น.ส.สีตีรอฮานา บือซา
หนึ่งใน 20 เยาวชนนักเขียน เปอรมูดอ เปอรนูลิส

จากโครงการมูลนิธิสุข – แก้ว แก้วแดง

เช้าวันใหม่กับบรรยากาศที่สุดชื่น ตรงเส้นขอบฟ้ามีสีทองส่องกระจายแสงออกมา ได้เวลาดวงตะวันกลมโตโผล่ทำงานและเป็นนาฬิกาชีวิตให้ใครบางคนที่ต้องสะสางภารกิจชีวิตดังเช่นทุกวัน
‘’ทักษิณราชตำหนัก ชนรักษ์ศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน ‘’ ข้อความนี้ดังกึกก้องอยู่ในห้วงความทรงจำที่ครั้งเยาว์วัยเคยท่องจำมา และวันนี้ข้อความดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในภารกิจสำคัญ ซึ่งเป็นคำขวัญของจังหวัดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศที่มีนามว่า’นราธิวาส’
คำว่า ‘นราธิวาส’หรือเดิมชื่อว่า ‘มะนาลอ’เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมุงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฏรภาคใต้เมื่อปี ๒๔๕๘ แปลว่า ‘ที่อยู่ของคนดี’
จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดเล็กๆประกอบด้วยพันธมิตร ๑๓ อำเภอ ซึ่งหนึ่งอำเภอในนั้นเป็นถิ่นที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ตั้งแต่แรกลืมตาดูโลกที่สวยงามใบนี้ นั้นคือ อำเภอจะแนะ
จากตัวเมืองนราธิวาสสู่อำเภอจะแนะมีระยะทาง ๓๐ กว่ากิโลเมตร ประกอบด้วย ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลจะแนะ ตำบลผดุงมาตร ตำบลช้างเผือก และตำบลดุซงญอ
ตำบลดุซงญอประกอบด้วย ๘ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแมะแซ บ้านสุแฆ บ้านรือเปาะ บ้านกาแย บ้านกาเต๊าะ บ้านน้ำหอม บ้านสาเมาะ และบ้านดุซงญอ
ดุซงญอ มาจากคำสองคำคือ ‘ดุซง’ ซึ่งหมายถึง ‘สวน’ และคำว่า ‘ญอ’ หมายถึง ‘ท่าน’ ท่านในที่นี้หมายถึงเจ้าพระยาเมืองระแงะ ดุซงญอ หมายถึง สวนของเจ้าพระยาเมืองระแงะ ต่อมาได้นำตั้งเป็นชื่อโรงเรียนมัธยาที่มีแห่งเดียวในตำบล นั้นคือโรงเรียนสวนพระยาวิทยา
บ้านดุซงญอตำบลดุซงญอเป็นหนึ่งในสี่ตำบลของอำเภอจะแนะ ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอ ๑๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อทางด้านทิศเหนือจรดบ้านแมะแซ ตำบลบองอ ทิศใต้จรดตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ ตำบลศรีบรรพต อำเภอศรีสาคร ทิศตะวันออกจรดตำบลผดุงมาตร และทิศตะวันตกจรดบ้านสุแฆตำบลดุซงญอ
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแนวภูเขาสูงสลับซับซ้อน แต่บ้านดุซงญอจะเป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาล้อมรอบ ปกคลุมไปด้วยความเขียวชอุ่มของป่าไม้เศรษฐกิจ ยาพาราและผลไม้พบเห็นจนชินตา ภายใต้ความเขียวชอุ่ม...เคยมีความแห้งแล้ง
ประวัติศาสตร์เมืองไทย เคยจารึกไว้จากเรื่องราวของ ‘กบฏดุซงญอ’
การเล่าขานสู่การบันทึกของคุณธนวัฒน์ แซ่อุ่น ที่ได้ลงมาสัมผัสพื้นที่ดุซงญอ ที่ครั้งหนึ่งเคยต่อต้านอำนาจรัฐ
นาย อารง บาโด อดีตกำนันตำบลดุซงญอ ช่วงก่อนที่ชีวิตจะสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ เคยได้รับการถ่ายทอดจากพ่อตาว่าชาวดูซงญอไม่ได้เป็นเป็นกบฏ แต่เป็นการรวมตัวกันต่อต้านโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือเรียกย่อๆ ว่า จคม. ที่นำพวกเข้าปล้นหมู่บ้าน แต่ทางการเข้าใจผิดยกกำลังมาปราบปรามทำให้ชาวบ้านที่มีเพียงมีด ถูกยิงตาย
เหตุการณ์เกิดขึ้นราวหกโมงเช้า โจรได้ยกพวกเข้าปล้น ชาวบ้านพากันวิ่งหนีเข้าป่า บางส่วนปิดประตูบ้านไม่มีใครกล้าเปิดประตูบ้าน โจรจึงเป่าแตรให้สัญญาณรบ แล้วใช้ปืนยิงเข้าใส่ มีผู้บาดเจ็บหลายคน
การปล้นครั้งนั้น นอกจากเอาเสบียงอาหารจนหมดแล้วโจรยังฉีกทำลายคัมภีร์ อัล-กุรอาน คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของหมู่มวลมุสลิม และหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับวิชาทางศาสนา และยังใช้ท้ายปืนทุบนายหะยีอาแว โต๊ะครูสอนศาสนาที่มัสยิดสูแฆ หมู่ที่ ๓ ตำบลดุซงญอ เสียชีวิต ๑ คน
ขบวนเหตุการณ์ได้ถูกจุด ชาวบ้านโกรธแค้น แต่ด้วยความกลัวโจรจึงได้แค่หนีและรวมตัวกันใน ‘กูวอลือมู’เพื่อสวดมนต์ให้พระเจ้าคุ้มครอง
‘กูวอลือมู’ หมายถึง ถ้ำวัว ปัจจุบันเป็นภูเขาอยู่ที่หมู่บ้านยอรอ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลจะแนะ
นานวันเข้ากลุ่มชาวบ้านจากตำบลอื่นๆ ที่กลัวโจรเหมือนกันมารวมตัวกันมากขึ้น และช่วงนั้น มีโต๊ะครูคนหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘โต๊ะเปเราะ’(เปรัค) เป็นชาวรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเล่าเรียนที่จังหวัดปัตตานี เมื่อเรียนจบ มาได้ภรรยาชาวบองอ อำเภอระแงะ และได้เปิดโรงเรียนปอเนาะสอนวิชาศาสนาและวิชาเสริมเกี่ยวกับคงกระพันชาตรีที่บ้านดุซงญอ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านดุซงญอ
การเปิดโรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิชาที่ร่ำเรียนไปต่อสู้กับโจร จะมีการต้มน้ำมันจนเดือนพล่านแล้วให้ลูกศิษย์ทั้งอาบ ทั้งทา เพื่อให้หนังเหนียว ยิง ฟัน แทงไม่เข้า
วันเวลาผ่านไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจากอำเภอระแงะเข้ามาตรวจความเรียบร้อยของหมู่บ้าน เมื่อมาพบชาวบ้านมารวมตัวเป็นจำนวนมาก จึงเริ่มระแวะและเข้ามาในพื้นที่บ่อยขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านไม่พอใจ
ด้วยความไม่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่เข้าขัดขวางพิธีกรรม กลุ่มชาวบ้านซึ่งมีจำนวนมากกว่าจึงขับไล่ เจ้าหน้าที่เพิ่มกำลังมากขึ้นจึงได้ประจันหน้ากันจนเป็นมูลเหตุให้เกิดการปะทะครั้งใหญ่และยืดเยื้อกว่า ๓๖ ชั่วโมง
วันแล้ววันเล่าที่มีการสู้รบ เสียงโอดครวญแห่งความเจ็บปวดมีไม่ขาดสาย จนมาถึงวันแตกหัก ทั้งสองฝ่ายรวบรวมกำลังพลกันมากขึ้นเปิดฉากด้วยการตะลุมบอน ทางการส่งเครื่องบินมาวนเวียน ฝ่ายชาวบ้านกลัวลูกระเบิด จึงหนีเข้าป่าไป การสู้รบจึงยุติลง
หลังการสู้รบชาวบ้านนำศพไร้วิญญาณไปฝังที่ข้างมัสยิดดุซงญอ ทุกวันนี้กลายเป็นกุโบร์หรือสุสานประจำหมู่บ้าน ส่วนศพเจ้าหน้าที่ที่มาการฌาปนกิจที่’’บูกิตสือดาดู’’ และนำกระดูกมาบรรจุไว้ส่วนหนึ่งในอนุสาวรีย์ลูกกระสุนปืนที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) สถานนีตำรวจอำเภอเมืองนราธิวาส
ดอกไม้เมื่ออยู่ในช่วงมรสุ่มย่อมบอบช้ำ
ฟ้าเปิดเมื่อใด ดอกไม้บานยามนั้น
นั้นคือเรื่องราวความเป็นมาของกบฏดุซงญอที่ทุกวันนี้ไม่มีใครอยากกล่าวถึง
จุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลุกฮือขึ้นสู้ของชาวบ้านดุซงญอ นั้นก็คือ สถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวมุสลิม
ดาวเด่นบนฟากฟ้าที่ไม่ว่าจะอยู่ในห้วงมีแสงสว่างหรือมือมิดของวัน ดวงดาวนี้ไม่เคยหลบหายไปในก้อนเมฆ เสียงอันอ่อนหวานที่เรียกรวมตัวชาวบ้าน ผู้เขียนได้ยินมาชั่วอายุไม่เคยมีวันหยุด
‘มัสยิดมูฮามาดี’ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางหมู่บ้าน ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้านก็ว่าได้ มัสยิดแห่งนี้ได้บริการให้แก่คนในหมู่บ้านและผู้สัญจรไปมานับไม่ถ้วน และประกอบด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้สถานที่แคบลงไป
ตัวแทนชาวบ้านดุซงญอ ได้ทำหนังสือถึงมูลนิธิของทูลกระหม่อมหญิอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี กราบบังคมทูลให้ทราบถึงปัญหาความเดือนร้อนกรณีมัสยิดประจำหมู่บ้านมีความคับแคบและไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติศาสนกิจ
ซึ่งเวลาต่อมา พระองค์ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณ ด้วยการเสียสละพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เป็นเงิน ๒,๒๗๕,๐๐๐ บาท ให้ขยายมัสยิดให้กว้างขวางขึ้น แต่โครงสร้างคงเดิม
พระเมตตาและสายพระเนตรที่เปี่ยมด้วยความรัก ได้ถูกบันทึกในดวงใจของชาวดุซงญออย่างล้นพ้น
วันใหม่ที่เปียกปอนกับละอองฝนที่หล่นลงมาตั้งแต่เมื่อคืน ส่งผลให้อากาศค่อนข้างเย็น ผู้เขียนเตรียมออกไปสำรวจพื้นที่พร้อมกล้องคู่ใจ
เริ่มต้นตรงหน้าบ้านหลังเก่าของนักเขียนคนดังชาวดุซงญอที่ไม่เคยลืมบ้านเกิดของตัวเอง คนในบ้านหลังนี้กับผู้เขียนเคยมี’ความทรงจำร่วมกัน’ก่อนที่เขาได้ย้ายตัวเองออกนอกหมู่บ้านไป
จำได้ว่าบ้านแถวตรงนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนจะมีคนจีนอยู่สลับกับชาวมุสลิมบ้านเว้นบ้านไป ถัดไปเป็นหอสมุดประชาชนที่มีบรรณารักษ์สาวต้อนรับเป็นอย่างดีและทีสำคัญบ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของคนจีน ที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้รับส้มและขนมเข่งจากคุณตาผู้ใจดีจากบ้านหลังนี้
ในวันที่มาสำรวจพื้นที่ตรงกับตลาดนัดเอกชนประจำวันจันทร์ที่บริเวณหน้ามัสยิดมูฮำมาดี บ้านดูซงญอจะมีระบบตลาด มีร้านค้าปลีกกระจายทุกหมู่บ้าน โดยที่ตลาดท้องถิ่นใหญ่ตั้งอยู่ที่นี่ รวมถึงมีตลาดนัดเอกชนที่ขายเฉพาะวันจันทร์และวันพฤหัสบดี
ตลาดนัดวันจันทร์จะมีพ่อค้าแม่ค้าต่างมาจับจ้องพื้นที่ขายตั้งแต่บ่ายโมงและจะคึกคักที่สุดในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆซึ่งเป็นช่วงเดี่ยวกับเวลาเลิกเรียนและกลังเลิกงาน
นายอายุบ บินหะยีเลาะ พ่อค้าขายเสื้อผ้าที่ร่วมขายของกับพี่สาวตรงหน้าปั้มน้ำมัน ปตท.ได้เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ ๙ โมงเช้าก็จะมาเตรียมตัวจัดข้าวของให้เข้าที่เรียบร้อย แล้วก็รอเวลาลูกค้าเข้าร้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มเข้าในช่วงเที่ยงของวัน แต่จะคึกคักในช่วงบ่าย ๓ โมง และจะเริ่มเก็บร้านในช่วงเวลา ๕ โมงเย็น เขายังเล่าว่าในช่วงวันจันทร์จะขายของอย่างสนุกสนานกับลูกค้ามาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน มีอะไรก็คุยกันได้
อายุบ บินหะยีเลาะ เป็นเพื่อนของผู้เขียนตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนที่โรงเรียนบ้านดุซงญอ และทีสำคัญสมัยก่อนบ้านเราใกล้กัน ใกล้ขนาดใช้ผนังบ้านเดียวกัน ก่อนที่เขาจะสร้างบ้านหลังใหม่ที่ไกลออกไป ๑๐๐ เมตร
ส่วนตลาดเอกชนอีกทีหนึ่งก็คือตลาดนัดวันพฤหัสสบดี ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ จะอยู่บริเวณหลังปั้ม ปตท. ตลาดแห่งนี้มีมานาน ๒๘ ปีแล้ว จำได้ว่าผู้เขียนลืมตาดูโลกก็มีตลาดแห่งนี้อยู่แล้ว
ตลาดนัดวันพฤหัสบดีจะคึกคักมาก จะมีพ่อค้ามาขายของมากมาย ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำบูดู ผลไม้ ขนมหวาน หรือของสด พ่อค้าส่วนใหญ่จะมีทั้งชาวนราธิวาส ปัตตานี และยะลา
ตลาดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นที่ช็อปปิ้งประจำสัปดาห์ของชาวบ้าน ก็ว่าได้ ชาวตำบลดุซงญอให้ความสำคัญกับการศึกษา ในหมู่บ้านมีโรงเรียนระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและอนุบาล ๓ ขวบ จำนวน ๔ แห่ง ระดับประถมศึกษา ๕ แห่ง ระดับมัธยมศึกษา ๑ แห่ง ศูนย์การศึกษานอกห้องเรียน ๑ แห่ง และห้องสมุดประชาชน จำนวน ๑ แห่ง
โรงเรียนบ้านดุซงญอ ได้บ่มเพาะผู้คนชาวดุซงญอและบริเวณใกล้เคียงมากกว่า ๗๗ ปี มีผู้อำนวยการคนในพื้นที่ ความเข้มแข็งของบุคคลส่งผลให้โรงเรียนมีคุณภาพทั้งบุคลากรและผลการเรียนที่ไต่ระดับสูงขึ้นทุกปี และสถิติการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อ ณ สถานที่แห่งนี้ก็มีเพิ่มขึ้น
อีกสถานที่หนึ่งที่เป็นโรงเรียนมัธยมที่มีแห่งเดียวในตำบลนั้นคือ โรงเรียนสวนพระยาวิทยา
ธงไตรรงค์โบกไปมาตามกระแสลมบนจุดสุดยอดเสาในโรงเรียนสวนพระยาวิทยา ซึ่งเดิมมีชื่อว่าโรงเรียนดุซงญอวิทยา โดยมีนายวอยารี หะยีมะเย็ง ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารคนแรก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สวนพระยาวิทยา
โรงเรียนแห่งนี้มีความผูกพันกับผู้เขียนมาก อาจกล่าวว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของครอบครัวก็ว่าได้ เพราะพ่อทำงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตกับคู่ชีวิต ถ้านับไปแล้วก็กว่า ๒๘ ปี
ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการสอบโดยเพิ่มหลักสูตรอิสลามศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งนักเรียนที่เรียนจบก็จะได้รับในระเบียน ๒ ใบ ที่ได้ทั้งทางสามัยและควบคู่ทางศาสนาไปด้วย
ด้วยความที่เน้นการศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย จึงเกิดการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้ารับประสบการณ์จริงจากโรงเรียน สถานที่นี้ตั้งอยู่ที่ว่าการองค์การบริหารส่วนตำบลดุซงญอ เยื้องสถานีอนามัยและสถานีตำรวจประจำหมู่บ้าน
ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมสังเกตความเป็นอยู่ของคนในเครื่องแบบที่อาสานำตัวเองจากแดนไกลเพื่อป้องกันภัยในพื้นที่ ด้วยภาระและหน้าที่ส่งผลให้การปฏิบัติงานในแต่ละวันต้องเข้มแข็ง รวมถึงความมีมิตรไมตรี ยิ้มแย้มและมีน้ำใจ จะมีใครรู้ไหมว่า ‘โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น’
ผู้เขียนได้เดินทางพาตัวเองมาหยุดนิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสำนักสงฆ์ที่มีอยู่แห่งเดียวในหมู่บ้าน นั่นคือ สำนักสงฆ์ธรรมนิมิตพัฒนาราม สำนักสงฆ์แห่งนี้แต่ก่อนนั้นจะมีพระภิกษุหลายรูปมาพำนักที่นี่ ภาพกวาดอเนกประสงค์ก็ยังจำได้ไม่เคยลืม หรือทุกวันในเวลาเข้าจะมีพระพร้อมเด็กวัดเดินเท้าไปบินฑบาต ที่สำคัญเด็กวัดคนนั้นเคยร่วมเรียนห้องเดียวกันในสมัยชั้นประถมศึกษา มีชื่อเล่นว่า ‘โอ’ หรือ เด็กชายอนุชา
เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ก็จะมีชาวพุทธศาสนาที่เป็นทั้งพ่อค้า ครู อาจารย์ และคนจีนมาทำบุญที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ แม่เล่าให้ฟังว่า ในสมัยเด็กนั้นเมื่อมีคนเสียชีวิตก็จะได้ยินเสียงสวดศพ ๓ คืนบ้าง ๕ วันบ้าง และเมื่อถึงวันฌาปนกิจ ก็จะเผาตรงกลางสนามวัด จะรวมตัวกับเพื่อนๆอีกหลายคนเดินทางไปสังเกตการณ์ และตกใจเมื่อร่างไร้วิญญาณถูกความร้อนแล้วกระตุกลุกขึ้น ต่างวิ่งหนีแยกย้ายไปคนละทิศละทาง
สำนักสงฆ์แห่งนี้เคยเกือบร้าง พระภิกษุกต่างแยกย้ายไปพำนักที่อื่นด้วยเหตุผลที่ไร้ความปลอดภัย เหลือเพียงแต่อาคารที่ว่างเปล่า ต่อมาทางการได้ส่งทหารลามาเพื่อรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน และได้เข้ามาอาศัยอยู่ในสำนักสงฆ์แห่งนี้ ก็ช่วยให้สำนักสงฆ์ที่เกือบร้างไป กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะไม่ใช่แบบเดิมที่อิงธรรมะก็ตาม
ธงสามสีที่โบกสะบัดบนรั้วกำแพงค่ายหหารแห่งนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเป็นสถานีวิทยุประจำหมู่บ้านไปแล้ว ซึ่งได้รับความนิยมรับฟังจากคนในหมู่บ้านมาก ครั้งหนึ่งได้มีการเล่นเกมตอบคำถาม พี่สาวร่วมเล่นเกมโดยการโทรศัพท์และตอบคำถามถูกได้รับรางวัลเป็นวิทยุขนาดเล็กมาเชยชม
ครั้งหนึ่งที่แสดงความมีน้ำใจของชายในเครื่องแบบ ด้วยที่บ้านของผู้เขียนจะเป็นที่ลุ่มและน้ำท่วมเข้าในบ้าน จึงได้ขอความช่วยเหลือและได้รับความช่วยเหลือนั้นอย่างเต็มใจ ถึงแม้ว่าผู้รักษาความปลอดภัยจะมาจากแดนไกล ด้วยมิตรภาพและความมีน้ำใจส่งผลให้’เรา’สามารถอยู่ร่วมกันได้
ถัดจากสำนักสงฆ์ไปข้ามฝั่งถนนมาอีกฟากจะพบสุสานของชาวจีนที่กว้างขวาง เป็นอนุสรณ์บ่งบอกว่าครั้งหนึ่งมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ร่วมกันในถิ่นนี้ วันวานผ่านไปดวงตะวันหลบไปแล้ว...มีเพียงดวงดาวมาแทนที่วันใหม่เดินทางมาถึง เดือนนี้ทางฮิจเราะห์ศักราชถือว่าเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมทั้วโลกจะระลึกถึงท่านศาสดามูฮำหมัด
ไม่แปลกที่แต่ละวันจะเห็นรถขนนักเรียนจากปอเนาะต่างๆเข้าในหมู่บ้าน การจัดงานของแต่ละบ้านควบคุมด้วยงบประมาณ หากผู้มีงบประมาณมากก็จะจัดงานเลี้ยงอาหาร โดยเรียกคนในหมู่บ้านมาร่วมสวดมนต์และกล่าวสรรเสริญ พร้อมแจกของที่ระลึกเป็นเงินเหรียญทที่ห่อในถุงขนาดเล็กพร้อมกับใบเตยที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก หลังจากนั้นก็จะเลี้ยงอาหารและแยกย้ายกันไป
ในช่วงที่ผู้เขียนยังเด็กสวนใหญ่จะจัดในตอนกลางคืน แต่ปัจจุบันจะจัดในช่วงหลังละหมาดอัสรี หากย้อนไปประมาณ ๒ เดือนที่แล้ว เป็นช่วงที่เป็นการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ทางฮิจเราะห์ศักราช เป็นห้วงยามของการระลึกถึงเหตุการณ์หนึ่งในศาสนาประวัติ ที่ครั้งหนึ่งท่านนบีมูฮำหมัดอยู่ในกองทัพที่เหลือข้าวสารอยู่เพียงเล็กน้อยขณะที่ไพร่พลเหลืออยู่มาก จึงได้เอาเสบียงทุกอย่างที่มีอยู่มาใส่รวมกันแล้วร่วมรับประทานด้วยกัน
ชาวมุสลิมในแต่ละถิ่นจะร่วมเลือกวันในเดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปี เป็นการฉลองปีใหม่อาซูรอ ความร่วมมือของคนในชุมชนอบอวลด้วยความร่วมแรงร่วมใจ ตั้งแต่เข้ากระทะใบบัวถูกขนเข้ามาเตรียมพร้อมใช้งาน ผู้ขายหลายคนลำเลียงไม้ฟืนมาจากป่ายาง ส่วนผู้หญิงจะดูส่วนประกอบที่ใช้ปรุงขนม’อาซูรอ’
อาซูรอเป็นชื่อขนมที่ผสมด้วยข้าวสาร กะทิ น้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก พืชผักผลไม้จำพวกหัวมันเทศ เผือก ข้าวโพด กล้วยดิบ ถั่ว ฟักทอง หอม ตะไคร้ ถูกนำไปรวมกันในกระทะใบบัวบนเตาที่ร้อนแล้วกวนจนส่วนประกอบทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นใช้ไฟอ่อนกวนต่อไปจนหนืดเหนียวข้น จึงยกกลงใส่ถาด เนื้อขนมจะแข็งอีกเมื่อทิ้งไว้ให้เย็น
ขนมส่วนหนึ่งถูกใช้ในพิธีกรรม และส่วนที่เหลือก็ใช้เลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านรวมทั้งแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน แท้จริงของการร่วมงานบุญในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวขนม แต่หากเป็นการสร้างเงื่อนไขให้คนในชุมชนทำงานร่วมกัน
ในรอบหนึ่งปีชาวมุสลิมจะมีประเพณีที่สำคัญอยู่หลายอย่าง เมื่อย่างเข้าเดือนรอมฏอนชาวมุสลิมทั่วโลกจะร่วมกันถือศีลอด โดยจะเริ่มอดอาหารตั้งแต่ก่อนตะวันขึ้นจนถึงตะวันตกดิน ใช้เวลา ๓๐ วัน ในเดือนนี้ถือว่าเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธ์ และเมื่อปฏิบัติศาสนกิจจะได้รับบุญมาก ในเวลาค่ำคืนจะมีการละหมาดร่วมกันเรียกว่าการละหมาดตอรอเวียะห์
เมื่อครบเดือนแล้วก็จะเข้าสู่เดือนใหม่ และมีการต้อนรับด้วยการเตรียมอาหาร ซึ่งอาหารที่มักจะมีทุกบ้านก็คือขนมต้มหรือตูปะ ก็คล้ายกับชาวพุทธที่เวลาทำบุญก็มักจะทำขนมต้มเช่นกัน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดของการเฉลิมฉลองวันตรุษอิดิลฟิตรีก็คือการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับในเวลาเดียวกัน การแบ่งปันเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งและควรมีอยู่ในตัวบุคคลทุกคน
ในวันนี้ไม่แปลกที่ทุกคนจะแต่งตัวสะอาดและสวยงาม ภารกิจแห่งวันสำคัญเริ่มตั้งแต่เช้า ถนนทุกสายมีคนเดินทางทั้งเดินทางเท้าและขับขี่รถยนต์ มุ่งสู่มัสยิดมูฮัมมาดีเพื่อร่วมละหมาดร่วมกัน ผู้คนมากมายในชุดละหมาดสีขาว ความบริสุทธ์ผุดผ่องบวกกับความศรัทธาช่างเป็นภาพที่น่ามองยิ่ง
วันนี้หากมองว่าเป็นวันแห่งครอบครัวก็ว่าได้ ญาติพี่น้องที่อยู่ไกลหรือไปทำงานต่างประเทศหรือต่างจังหวัด ก็แต่ละคนที่เคยบาดหมางใจกันหรือทำผิดพลาดไปในรอบปี จะได้รับการ ‘ให้อภัย’ ต่อกัน น้ำตาที่ไหลหลั่งในวันนี้มีค่ายิ่ง เพราะมันเป็นน้ำตาที่เปี่ยมด้วยความรุนแรงและคงจะอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์
วันสำคัญอีกวันที่เป็นเฉลิมฉลองเช่นเดียวกันก็คือ วันตรุษอิดดิลอัฏฮาหรือวันสิ้นสุดการทำบุญ ณ เมืองแมกกะห์ ประเทศซาอุดีอารเบีย จะมีการทำบุญเรียกว่าการกุรบาน คือการเชือดวัวหนึ่งตัวสำหรับ ๗ คน และแบ่งเนื้อออกเป็น ๗ ส่วนที่สำคัญคือจะแบ่งให้เท่าๆกัน สำหรับเนื้อที่ได้รับนั้นจะเก็บไว้ทานในครอบครัวบางส่วน และที่เหลือก็จะแบ่งปันให้กับญาติพี่น้องและให้แก่คนยากจน
ความเชื่อของชาวมุสลิมในการทำกุรบาน คือ เมื่อถึงวันฟื้นคืนชีพเราจะใช้วัวเป็นพาหนะในการเดินทางไปที่ทุ่งอารอฟะเพื่อรับคำตัดสินจากพระผู้เป็นเจ้า ประเพณีต่างๆส่งผลให้เกิดความเชื่อ รวมถึงการเกิดของชาวมุสลิม
วิธีการต้อนรับสมาชิกใหม่ในสมัยก่อนนั้น จะเริ่มต้นตั้งแต่หญิงที่ตั้งท้อง ๗ เดือนที่ฝากท้องกับหมอตำแย ก็จะเข้าพิธี ‘แนแง’หรือการสะเดาะเคราะห์เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่คุณแม่คนใหม่
ในพิธีจะมีหมากพลู ๗ ใบ มะพร้าวแก่ที่ปอกเปลือกเหลือแต่กะลาและขัดจนเกลี้ยง แล้วนำไปกลิ้งบนท้องของผู้หญิงท้องเบาๆแล้วปล่อยลงทางขาของผู้หญิง ซึ่งวิธีนี้มีความเชื่อว่าคุณแม่คนใหม่จะคลอดง่ายและปลอดภัย
เมื่อถึงกำหนดคลอด หมอตำแยคนเดิมก็จะมาทำคลองโดยมีเคล็ดต้องเตรียมข้าวสาร ด้ายดิบ เหรียญเงิน ๑๒ บาท พลู ๑ ใบ หมากครึ่งลูก แล้วนำไปใส่รวมไว้ในจาน เมื่อเด็กน้อยลืมตาดูโลก ก็จะนำเด็กน้อยนอนในถาดโดยมีข้าวสารโปรยและวางผ้าหรือเบาะและนำตัวเด็กน้อยวางลงไปในถาดจะมีโต๊ะครูมาทำพิธีอาซานที่หูซ้ายและขวา เพื่อให้รับรู้ว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นสมาชิกใหม่ของชาวมุสลิม และนั่นเป็นการเริ่มต้นการเรียนครั้งแรกของเด็กน้อย เพราะการเรียนนั้นจะเริ่มเรียนตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ
มีใครรู้บ้างว่าทำไมเด็กน้อยต้องอาศัยในถาด ? ก็เพราะสมัยก่อนไม่มีเบาะ และอีกอย่างเด็กน้อยตัวเล็กโต๊ะครูอุ้มไม่ถนัดมือจึงใส่ในถาดเพื่อความสะอาดในการทำพิธี นั่นคือเรื่องราวแห่งความสุขที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และคงจะมีมากขึ้นๆต่อไป...
|