ชาวบ้านกับเจ้าหน้ารัฐในเหตุการณ์ดุซงญอ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จิน เปง หัวพรรคคอมมิวนิสต์มาลายู (กลาง)
๑.โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาเป็นต้นเหตุ จีน เปง หัวพรรคคอมมิวนิสต์มาลายู นายอับดุลเลาะห์ ซีดี หัวหน้ากรม ๑๐ และนางซูรียานี ขณะนำพลพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๑ และเกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ จนเกิดเหตุการณ์เข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน กรณีกบฏดุซงญอ จนนำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเกือบ ๔๐๐ และเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ๕ คน : อ้างถึงเพจ วันวาน ณ แดนใต้ ๒๐ มิ.ย.๒๐๑๕. (ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อน ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าชาวบ้านเสียไม่ถึง ๑๐๐ ศพ)
จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบไปด้วย รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาของสี่จังหวัดภาคใต้ โดยได้ออกนโยบายโดยเฉพาะดังนี้
๑.รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเรียกว่ากรรมการพิจารณาปรับปรุงปกครอง ๔ จังหวัดภาคใต้
๒.รัฐบาลจะพยายามจัดรูปการปกครองให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีของ ‘’ชาวไทยอิสลาม’’ เท่าที่จะสามารถจะทำได้และกำลังจัดตั้งจุฬาราชมนตรีเพื่อประสานงานกับฝ่ายปกครอง
๓.รัฐบาลจะจัดการปรับปรุงระเบียบการศึกษาใน ๔ จังหวัดภาคใต้ โดยจะให้มีการสอน ภาษามลายูในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล
๔.รัฐบาลจะได้พยายามอุดหนุนส่งเสริมกิจการทางศาสนาอิสลาม โดยจะจัดตั้งงบประมาณช่วยเหลือในการสร้าง ‘สุเหร่าประจำจังหวัด’
หลังจากประกาศนโยบายได้เพียง ๑๗ วันโดยยังไม่ทันได้ปฏิบัติตามนโยบาย ข้างต้นก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างตำรวจกับชาวมลายูมุสลิมที่จังหวัดนราธิวาสเสียก่อน
หะยี อับดุลเราะห์มานหรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ‘โต๊ะเปรัค’(นายอารง บาโด อดีตกำนันบอกว่า โต๊ะแปเราะ ชื่อนายหะยีอิดรุส เพราะท่านเกิดที่รัฐเปรัค และเดินทางมาอยู่ที่บ้านดุซงญอ มาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฎ ท่านมาเป็นครูสอนศาสนาอยู่ที่นั่นจนเป็นที่นับถือของชาวบ้านทั่วไป)
วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ พระมหาจักรพรรคญี่ปุ่นได้ยอมยุติสงครามมหาเอเชียบูรพากับชาติพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ อังกฤษก็เข้ามาปกครองแหลมมลายูเช่นเดิม ในขณะเดียวกันชาวจีนในแหลมมลายูซึ่งได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา( Communist Party of Malaya ) ซึ่งได้ร่วมรบกับอังกฤษต่อต้านญี่ปุ่นตลอดระยะเวลาสงคราม เมื่อสงครามยุติอังกฤษประสงค์จะให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมอบอาวุธให้แก่อังกฤษ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ยินยอมวางอาวุธ อังกฤษจึงได้ปราบปรามอย่างรุนแรง ด้วยการปิดล้อมหมู่บ้านที่เป็นแหล่งพักพิงและเสบียงอาหาร ทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเดินทางขึ้นทิศเหนือเข้ามายังเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส ยะลา และสงขลา เพื่อหนีการปราบปรามของอังกฤษ
ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสทหารของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้เข้าไปเคลื่อนไหวและหาเสียงอาหารอยู่ในพื้นที่อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดีและระแงะ ซึ่งมีเขตติดต่อกับชายแดนมลายูของอังกฤษ จนลึกเข้าไปในพื้นที่ตำบลดุซงญอ อำเภอระแงะ การเข้าไปเคลื่อนไหวหาสมาชิกและเสบียงอาหารของทหารพรรคคอมมิวนิสต์มลายนั้น ได้เกิดกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมลายูท้องถิ่นเป็นประจำจนเป็นเหตุรุนแรงขขึ้นที่บ้านกัวลือมู(Gua Lembu) กรณีที่ชาวบ้านไม่ยอมร่วมมือส่งเสบียงอาหารให้ ทหารพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้เผาบ้านของชาวบ้านแถบนั้นเสียหายหลายหลัง ทำให้ชาวบ้านเกิดความเกรงกลัว เมื่อความทราบถึงนาย กาลี เจ๊ะเต๊ะ กำนันดุซงญอ จึงได้แจ้งไปยังอำเภอระแงะทราบ แต่ทางอำเภอก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆในเรื่องนี้เนื่องจากข้อมูลการข่าวเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์มลายาเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีฐานการข่าวมากกว่านี้
จนกระทั่งต่อมาก่อนจะเกิดเหตุประมาณ ๓ เดือน ทหารพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาปิดล้อมบ้านกำนัน แล้วปล้นเอาทรัพย์สินต่างๆจากบ้านกำนันพร้อมกับยิงปืนเข้าไปในบ้านกำนันเสียหาย แล้วล่าถอยไป พร้อมกับเกณฑ์ชาวบ้านแบกเสบียงอาหารและสิ่งของต่างๆที่ปล้นมาได้ ให้ไปส่งยัง เชิงเขาไอตือกอ เมื่อถึงบริเวณนั้น ชาวบ้านหลายคนทิ้งสิ่งของพากันหลบหนี
๒. ชาวบ้านรวมกลุ่มต้านโจรจีนคอมมิวนิสต์ กลับกลายเป็นกบฏ
ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย แจ้งทางอำเภอแล้วก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขประการใด ชาวบ้านจึงไปปรึกษาโต๊ะเปรัค ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ก็ได้รับการแนะนำให้จัดตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา โดยทางโต๊ะเปรัค จะทำพิธีทางศาสนา ดังนั้นชาวบ้านจึงได้รวมกันที่บ้านกัวลือมู ทำพิธีทางศาสนาขึ้นบนภูเขาบ้านกัวลือมูเป็นเวลานานประมาณ ๑ สัปดาห์ นอกจากนั้นโต๊ะเปรัค ยังทำพิธีต้มน้ำมันเพื่อเป็นน้ำมนต์ให้ชาวบ้านได้ใช้ประพรมทาตัวเป็นน้ำมนต์ให้เกิดศิริมงคลด้วย
ก่อนเกิดเหตุการณ์ประมาณ ๒ วัน มีชาวจีนจากระแงะชื่อนายบุนกี่ หรือชาวบ้านเรียกว่าเจ๊ะมะ นำสินค้าไปขายในตลาดดุซงญอ ได้ถูกนายสะแปอิง ชาวบ้านดุซงญอใช้มีดฟันบาดเจ็บ ทางอำเภอจึงได้ส่งปลัดอำเภอท่านหนึ่งชื่อ นายมนูญ เสมียนอำเภอคนหนึ่งและ ตำรวจอีกคนหนึ่งออกไปสืบสวนข้อเท็จจริง ที่บ้านดุซงญอ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแอบดูการทำพิธีที่บนภูกัวลือมู พบกับชาวบ้านที่ไปทำพิธี ชาวบ้านก็พากันขับไล่เจ้าหน้าที่ทั้งสองต่างก็หลบหนีกลับไปยังอำเภอและเล่าเหตุการณ์ให้ทางอำเภอ เชื่อว่าเป็นการเตรียมการเพื่อก่อการกบฏ ซึ่งเวลาก่อนหน้านั้นมีกรณีการจับกุมนายหะยีสุหลง ที่จังหวัดปัตตานี ทางราชการจึงได้เชื่อว่าการชุมนุมของชาวบ้านดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อเหตุร้ายและต่อต้านรัฐบาลในกรณีหะยีสุหลงฯ ถูกจับกุมทางการจึงเรียกเหตุการณ์นั้นว่า’’กบฏดุซงญอ’’
สถานการณ์ในพื้นทีดังกล่าวยิ่งตึงเครียด เหตุการณ์ได้ถูกรายงานไปยังจังหวัด ทางจังหวัดไดรายงานต่อไปจนถึงกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาลได้ส่งกำลังตำรวจจากสงขลา ยะลา สมทบกันตำรวจจากนราธิวาส เข้าไปเพื่อทำการปราบปรามเหตุการณ์ที่เรียกว่า’’กบฏดุซงญอ’’ให้เด็ดขาด โดยมี พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา เป็นหัวหน้าคณะ ร.ต.ต.พิงพันธ์ เนตรรังสี ร.ต.ต.กรี ไม่ทราบนามสกุลเป็นทีมงาน
คุณวรมัย กบิลสิงห์ ได้เล่าในหนังสือ ‘ดุซงญอ ๒๔๙๑ ‘ ว่า
‘’คุณประยูร ชันสุพัฒน์ ให้ข่าวว่า
เหตุการณ์ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ตอนเช้าตำรวจมาถึงศาลาพักร้อน ซึ่งห่างจากตลาดดุซงญอ ราวครึ่งกิโลเมตร รองผู้กำกับบุญเลิศ เลิศปรีชา ร.ต.ท.กรี ร.ต.ต.พิงพันธ์ เนตรรังสี กับพลประมาณ ๒๘ สั่งแยกเป็น ๒ หน่วย
หน่วยที่ ๑ ร.ต.ต. พิพันธ์ เนตรรังสี กับพล ๒๘ นาย หน่วงที่ ๒ รองผู้กำกับบุญเลิศ เลิศปรีชา ร.ต.ท.กรี กับพลประมาณ ๑๔ คนหน่วยที่ ๑ และที่ ๒ ซุ่มอยู่ช้างทางห่างกันราว ๒๐๐ เมตร หน่วยที่ ๑ แบ่งกองล่อออกไป ๔ นาย
พอกองล่า ๔ นาย ซึ่งมี สิบตรีสง รุ่งเรือง เป็นหัวหน้า เดินไปถึงที่อยู่ของพวกจลาจล พอมันเห็นก็ตีกลองใหญ่แล้วโห่ร้อง ยา ซัลญาลา ลีวัลอิกรอม วิ่งถือดาบ ถือปืนกรูออกมาไม่เป็นระเบียบช้าบ้างเร็วบ้าง คนหัวหน้าแต่งตัวด้วยผ้าขาวคาดเอวด้วยผ้าแดง เดินพนมมือชูดาบว่าค่าออกมา พอทันกันก็ลงมือฟัน
พวกกองล่อ ๔ คนพอล่อให้มันออกมาแล้วก็ถอย ถอยพลางยิงพลางจนกระสุนหมด จะบรรจุกระสุนใหม่ไม่ทัน จึงเอาปืนตีมัน มันก็ยิ่งบ้าเลือกใหญ่ เข้าล้อมรอบตัวกองลาดตระเวรทั้ง ๔ และเข้าแย่งเอาปืนไปได้
สี่เสือไทยได้เข้าชกต่อยต่อสู้เป็นสามารถ แต่เพราะน้อยตัวกว่ามากนักจึงเสียชีวิตทั้ง ๔ นาย
เมื่อได้เกิดการตะลุมบอนแก่กองตระเวน ดังนั้นรองผู้กำกับการบุญเลิศ เลิศปรีชา จึงสั่งยิง ยิงพร้อมกันทั้ง ๒ หน่วย พวกจลาจลไม่หนีกระสุนกลับดาหน้าเข้ามา จึงเกิดต่อสู้กันในระยะใกล้ชิด พวกเราน้อยกว่ามาก พวกจลาจลราว ๓๐๐ คน...ฯลฯ
เหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจไทยกับมลายูในวันที่ ๒๖ นี้ตำรวจไทยเสียชีวิต ๔ นาย บาดเจ็บ ๑ นาย มลายูประมาณ ๑๐ คน(ไม่แน่นอนเพราะเราเป็นฝ่ายถอย)
เหตุการณ์ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ตอนค่ำ ตำรวจทางจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยเหลือคือ
๑.สายยะลา ร.ต.อ. อรรถถพล สูยะโภชน์ ร.ต.ต.ประยูร ชั้นสุพัฒน์ กับพล ๒๐ นาย
๒.สายปัตตานี พล ๓๐ นาย นายสิบมาส่งแล้วกลับก่อน
ทั้ง ๓ สายนี้เดินทางรวมกันที่ตันหยงมัส (อำเภอระแงะ)แล้วแยกเดินทางมาพักที่ตำบลกลีซา ๑ คืน รอฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ
๒๗ เมษายน ๒๔๙๑ เช้าวันนี้รองผู้บังคับการแฝดกับกำลังพลจากสงขลา ประมาณยี่สิบกว่าคนมาถึง(หมู่บ้าน)กลีซา หลังอาหารเช้าแล้วก็ได้จัดการแยกหน่วยเดินทางตามลำดับหน่วย พักกลางป่าแห่งนี่ จนถึงราว ๑๓.๐๐ น. ถึงควนสูงกลางป่าจวนจะออกทุ่งพวกเราได้ยินเสียงโห่ร้อง จึงตั้งแถวขยายตามที่จัดมา
พอตั้งเสร็จอย่างด่วน เสียงโห่ร้องใกล้เข้ามาและเห็นคนมาทางถนนประมาณ ๓๐ คนเศษออกมายืนยันตรงถนนมองมาทางเรา พร้อมกันนี้ก็ได้ยินเสียงปืนฝ่ายจลาจนดัง ๔-๕ นัด รองผู้บังคับการแฝดสั่งยิงโต้ตอบไปบ้าง
ก็เห็นพวกมันตรงเข้ามาและเสียงปืนกระชั้นใกล้
พวกเราก็ยิงโต้ตอบไป พวกที่อยู่กลางถนนแทนที่จะดานหน้าเข้ามาอย่างวันแรกกลับตีโอบปีกขวาอย่างหนัก การต่อสู้ดำเนินไป ๓ ชั่วโมงเศษ ท่านผู้ใหญ่เกรงว่าจะค่ำจึงสั่งถอย ในขณะที่กำลังถอยพวกแขกที่ตีโต้หนักทางขวามือได้ยิงถูก พลสมัครวิน ไกรเลิศ ตาย เพื่อนได้ช่วยหามไปและถอยไปรวมกันทั้งหมดที่(บ้าน)กลีซา
รอฟังคำสั่งอีก ๒ วัน จึงได้ยกเข้ามายึดดุซงญอ โดยเหตุการณ์ ปกติ สืบทราบภายหลังว่าพวกแขกถอยตั้งแต่วันต่อสู้ครั้งหลัง
การต่อสู้ครั้งหลัง โดยมากพวกแขกซุ่มอยู่ตามในป่าและออกมาโอบตีปีกขวาอย่างหนักและเปิดเผยอาวุธของพวกมันมีทั้งปืนและดาบ ที่เขาว่าไม่มีปืนนั้นไม่จริง ตำรวจที่ตายเช่น พลสมัครวิน ไกรเลิศ ก็ถูกปืนที่หัว
พบกระสุนปืนคาร์ไบน์และปลอกกระสุนจำนวนมากในป่า ตำรวจไทยเสียชีวิตทั้งหมด ๕ นาย บาดเจ็บ ๑ นาย มลายูตายประมาณ ๓๐ กว่าคน บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน
ในบันทึกเหตุการณ์กบฏดุซงญอ ของวรมัย กบิลสิงห์ (เพิ่มเติม)
๒๕ เมษายน ๒๔๙๑ จึงได้มีชาวไทยมุสลิมรวมกันราว ๑,๐๐๐คน เข้าจู่โจมกองกำลังตำรวจไทยใกล้ชายแดนรัฐกลันตัน
การปะทะเกิดขึ้นในเวลาเช้าอย่างรวดเร็วแบบแตกหัก ชาวไทยมุสลิมในหมู่บ้านดุซงญออันเป็นจุดปะทะกล่าวว่าตำรวจไทยเป็นฝ่ายยิงก่อนด้วยความระแวง เพราะไทยมุสลิมกลุ่มนั้นเพิ่งกลับมาจากมาเลเซีย
แท้จริงพวกเขากลับมาดุซงญอ เพราะเกรงตำรวจไทยเข้าใจผิดว่าเป็นโจรจีนคอมมิวนิสต์(จคม.)อาจไม่ปลอดภัย แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรการเผชิญหน้าก็ได้ขยายตัวใหญ่อย่างรวดเร็ว
การปะทะกันเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๔๙๑ นี้มีคนตาย ๓๐ ถึง ๑๐๐ คน ฯลฯ
๒๖ เมษายน ๒๕๙๑ หน่วยรบพิเศษส่วนกลางได้รับการสนับสนุนจากเรือรบและเครื่องบินโจมตีอีก ๓ ลำ ก็ยกพลพร้อมอาวุธปืนเข้ากวาดล้างชาวบ้านดูซงญอ จำนวนมากกว่า ๑๐๐ คน และถูกปะทะตรึงไว้ด้วยคนที่นั้นราว ๑๐๐ คน และฝ่ายตำรวจก็ถอนกำลังออกไปอีกครั้ง
และกลับมาอีกด้วยแผนเผด็จศึกก่อนรุ่งอรุณ
๒๘ เมษายน ๒๕๙๑ ระหว่างที่ชาวไทยมุสลิมกำลังปฏิบัติศาสนกิจ ทำละหมาดก่อนตะวันขึ้น(ละหมาดซุบฮิ)ในสุเหร่าตือกอ... เสียงแห่งอำนาจจากรัฐ(เสียงปืน) ก็ดังกึกก้องไปทั้งดุซงญอและเนิ่นนาน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และสรุปว่า ‘’โศกนาฏกรรมดุซงญอนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงศาสนกิจอิสลาม’’
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเหตุการณ์ที่หมู่บ้านดุซงญอ ก็ถูกปกปิดหวังให้กาลเวลากลบกลืนไป.......
นายอับดุลซามัด อิบราฮิม(นายสมรรภ เอี่ยมวิโรจน์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนราธิวาสได้ตั้งกระทู้ในสภาผู้แทนราษฏรโดยกล่าวว่า ‘’ทางการตำรวจไทยได้ออกติดตามไล่ล่าประชาชนมุสลิมไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ คน ต้องอพยพหลบหนีไปยังดินแดนมลายู(มาเลเซียปัจจุบัน) รวมทั้งโต๊ะครูฮาญีอับดุลเราะห์มานหรือโต๊ะเปรัค ด้วยถ้าพบปะประชาชนคนใดเดินทางกลับก็จะถูกจับกุมโดยกล่าวหาว่าร่วมก่อการกบฏเพื่อต่อต้านรัฐบาล’’
จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายนั้นเกิดจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ จากสื่อในมลายู นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากวิจารณ์จากเติงกูมะห์หมูด มะไฮยิดดีน ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเท่านั้นหาได้มีการปฏิบัติจริงไม่ หนังสือพิมพ์หลายฉบับในสิงค์โปร์วิจารณ์ในลักษณะที่ไม่เชื่อมั่นในนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากท่านเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นผู้ที่มีอคติและต่อต้านชาวมลายู
อ้างอิง : ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู อารีฟีน บินจิ, อ.ลออแมน, ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล หน้า ๒๘๒ – ๒๙๐
http://www.sac.or.th/exhibition/aseantimeline/2491-
|