กบฏเหรอ? ดุซงญอ


กบฏ? ดุซงญอ
ดุซงญอ เป็นชื่อตำบลหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แต่ปัจจุบันกลายเป็นตำบลในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกัน ชาวบ้านในตำบลนี้เป็นชาวมลายูมุสลิมร้อยละ ๙๙ ส่วนที่เหลือเป็นชาวไทยพุทธและชาวจีนพุทธอาศัยอยู่
ดุซงญอ ในภาษามลายู หมายถึง “สวนของท่าน (เจ้าเมือง)’’ มีเรื่องเล่าว่าสมัยการปกครองแบบ ๗ หัวเมือง เมืองระแงะ เป็นเมืองหนึ่งในมณฑลปัตตานี เจ้าเมืองระแงะมีสวนอยู่ในตำบลนี้ ทุกปีเจ้าเมืองระแงะจะเดินทางไปดูแลสวนของท่าน ดังนั้นผู้คนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า ‘’ดุซง ราญอลือแฆ๊ะห์’’ หรือ’’สวนของเจ้าเมืองระแงะ’’ หรือเรียกสั้นๆว่า ‘’ดุซงญอ’’
ในอดีตสถานที่สำคัญของอำเภอจะแนะได้แก่’ถ้ำลือมู’หรือ’กูวอลือมู’ว่ากันว่าเป็นสถานที่ที่ใช้อาบน้ำมันของสมาชิกเพื่อให้อยู่คงกระพันในเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ เมื่อมีรายงานว่ามีคนผู้หนึ่งได้ตั้งตนเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ’บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดต่อกันการปะทะได้เนินไปเป็นเวลานานถึง ๓๖ ชั่วโมงเหตุการณ์จึงได้สงบลง
หลังจากนั้นปรากฏข่าวจากทางการว่า ได้มีการจับกุม’นายมาหะมะ’กำนันตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ และ’นายมุสตอฟา’ในข้อหากบฏ ส่วนนายหะยีติงงาแมหรือ’นายมะติงา’ ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนร่วมด้วย หลบหนีไปได้ ต่อมาประมาณปี ๒๔๙๗ จึงทำการจับกุมตัวและถูกส่งไปคุมขังไว้ที่จังหวัดนราธิวาสได้ประมาณปีเศษก็หลบหนีจากที่คุมขังไป
เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นบาดแผลสำคัญของตำนานความไม่เข้าใจและต่อมาจารึกไว้ในฐานะเสี้ยวของประวัติศาสตร์ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตรุนแรงครั้งหนึ่ง
เรียกขานกันในกาลต่อมาว่า ‘สงครามดุซงญอ’
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราว พ.ศ.๒๔๘๘ สหพันธรัฐมลายาซึ่งอยู่ภายใต้รัฐอาณานิคมของอังกฤษมีการปราบปรามกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาอย่างเข้มข้น บรรดาโจรจีนคอมมิวนิสต์กลุ่มหนึ่งได้หลบหนีมาหลบซ่อนตามชายแดนไทย โดยเฉพาะบริเวณบ้านบือลมหรือบือโล่งที่รัฐเปรัฐ ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดชายแดนไทย และเป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของโจรจีนคอมมิวนิสต์จำนวนมากที่สุด ตั้งค่ายเรียกว่า กรม ๑๐ นำโดย นายอับดุลเลาะห์ สีดี โจรจีนคอมมิวนิสต์บางกลุ่มจะออกหาเสบียงอาหารแลออกหาสมาชิกเพื่อให้การสนับสนุนภายในประเทศไทยด้วย
จนกระทั้งมีกลุ่มหนึ่ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดเข้ามาแสวงหาเสบียงอาหารและสมาชิกในพื้นที่ตำบลดุซงญอ ชาวบ้านว่ากลุ่มโจรเหล่านี้เป็นโจรจีนมาจากบ้านบือลม จึงเรียกว่า ‘’จีนนอบือลม’’ เล่ากันว่าเป็นพวกที่ไม่นับถือศาสนาใดๆจึงทำให้ชาวบ้านดุซงญอไม่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนไม่ว่าด้านเสบียงอาหารและเข้าร่วมเป็นสมาชิกโจรจีนคอมมิวนิสต์ เป็นเหตุให้กลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์ไม่พอใจชาวบ้านดุซงญอเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โจรจีนคอมมิวนิสต์กลุ่มดังกล่าวเข้าปล้นทรัพย์สินและเผาบ้านประชาชนใน หมู่บ้าน บือแนกาแย ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านดุซงญอไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
หลังจากนั้นหนึ่งปีหรือประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โจรจีนคอมมิวนิสต์กลุ่มเดียวกันได้เข้าปล้นตลาดตำบลดุซงญออีกครั้งหนึ่ง มีการปิดล้อมและบุกปล้นบ้านเรือนราษฏร รวมทั้งบ้าน นายกาลี เจ๊ะเต๊ะ กำนันตำบลดุซงญอ
นายหะยีอารง บาโด อดีตกำนันตำบลดุซงญอเล่าว่า ขณะนั้นตนมีอายุประมาณ ๙ ขวบ เมื่ออยู่ในทุ่งนาห่างจากบ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร ได้ยินเสียงปืนจากทางบ้านกำนันหลายนัด เข้าใจว่าเป็นเสียงจุดประทัด แต่ปรากฏว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์กำลังปิดล้อมบ้านกำนันและสั่งให้คนในบ้านเปิดประตู ขณะเดียวกันนายหะยี เจ๊ะแว ญาติใกล้ชิดกำนันจะเข้าไปช่วยเหลือก็ถูกโจรจีนคอมมิวนิสต์ยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต และสั่งให้คนในบ้านเปิดประตู เมื่อประตูเปิดออก โจรจีนคอมมิวนิสต์ก็เข้าไปในบ้าน จับตัว นายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์ บุตรชายกำนันซึ่งขณะนั้นเป็นครูประชาบาลไว้เป็นตัวประกัน และให้บอกที่ซ่อนอาวุธปืน โจรจีนคอมมิวนิสต์ปล้นเอาทรัพย์สินภายในบ้านกำนันไปหลายอย่าง
ต่อจากนั้นโจรจีนคอมมิวนิสต์ปล้นทรัพย์สินของชาวบ้านรวมไว้แล้วสั่งให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ถูกจับตัวเป็นประกัน รวมทั้งนายประพัฒน์ บุตรชายกำนันแบกหามทรัพย์สินต่างๆที่ปล้นได้ พาเดินไปทาง หมู่บ้านบือนากาแย เมื่อโจรจีนคอมมิวนิสต์และชาวบ้านที่ถูกคุมตัวไว้เป็นเชลยเหล่านั้นเดินทางไปถึงบ้านน้ำวน ชาวบ้านก็พากันทั้งสิ่งของหลบหนีโจรกลับบ้านไป
หลังเกิดเหตุการณ์ กำนันได้แจ้งกับทางอำเภอ แต่ไม่มีการตอบสนอบใดๆ จากทางการ ทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างหวาดกลัว ดังนั้นชาวบ้านจึงประชุมหารือกันว่าจะป้องกันตนเองจากโจรจีนคอมมิวนิสต์อย่างไร
ขณะนั้นมีโต๊ะครูสอนศาสนาอิสลามท่านหนึ่งเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือชื่อ หะยีอิดรุส หรืออิดริส หรือที่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า ‘’โต๊ะแปเราะ’’ เนื่องจากเป็นชาวมลายูมาจากเมืองเประ หรือเปรัฐ ซึ่งเป็นทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียติดชายแดนไทย มาเปิดปอเนาะสอนศาสนาอยู่ในตำบลดุซงญอ ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งโรงเรียนบ้านดุซงญอ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังสถานตำรวจดุซงญอ นอกจากนั้นยังมี นายอาซัน หรือชาวบ้านเรียกว่า ‘’โต๊ะปาเกอาแซ’’เป็นชาวเคดะห์ มีภรรยาอยู่ที่บ้านตือกอ และมาเรียนศาสนาที่ ปอเนาะโต๊ะแปเราะ พร้อมกับชาวเคดะห์และชาวกลันตันจำนวนหนึ่งปรึกษาหารือวางแผนที่จะต่อต้านโจรจีนคอมมิวนิสต์
ขณะนั้นมลายาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษและมีกลุ่มการเมืองเยาวชนต่อต้านอังกฤษเรียกว่า ‘’อังกะตัน ปือมูดา อิสลาม’’ หรือ Angkatan Pemuda Islam (API) จาการปรึกษาหารือได้ตกลงกันที่จะมีการตั้งกลุ่มต่อต้านโจรจีนคอมมิวนิสต์โดยการรับสมัครสมาชิก มีการอบรมทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ฝึกสมาธิ เรียนวิชาอยู่ยงคงกระพัน ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องเสียค่าเรียน ๑๐๐ บาท โต๊ะปาเกอาแซ หรือ หะยีมะแซ ชาวบ้านบือแตที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้ ได้ศึกษาวิธีการต่อสู้และทบสวดต่างๆกลับมาบอกเล่าให้ชาวดุซงญอร่วมกันต่อสู้ด้วย
การเตรียมการคือ มีการฝึกสมาธิที่บ้านปือยารอแล้วก็มาอาบน้ำมันที่ปอเนาะโต๊ะแปรัฐ กลางคืนก็จะมีการท่องทบสวดร่วมกันบนภูเขากูวาลือมู มี นายหะยีมะกาแร เป็นผู้แนะนำการฝึก
การท่องบทสวดร่วมกันของคนจำนวนมากจนมีเสียงดังกระหึ่มไปทั่ว ทำให้สมาชิกเกิดความรู้สึกฮึกเหิมไม่เกรงกลัวภัยใดๆ สมาชิกบางคนจะร้องตะโกนท้าทายเรียกโจรจีนคอมมิวนิสต์มาต่อสู้ตลอดเวลา จนกระทั่งเกิดความรู้สึกเกลียดชังแม้กระทั่งคนจีน คนไทย และคนทั่วไป
วันหนึ่งมีคนลองทำร้าย นายบุ้นกี่ หรือที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า เจ๊ะมะ พ่อค้าจีนจากตลาดตันหยงมัสที่นำของมาขายที่ตลาดดุซงญอถูกมีดฟันได้รับบาดเจ็บ ซึ่งบางคนก็ว่าเสียชีวิต
(วรมัย กบิลสิงห์) เขียนใน ‘’ ดุซงญอ ๒๔๙๑ ถึงตากใบวิปโยค’’ ว่า’’ จนมาวันหนึ่งนายบูซา ผู้ใหญ่บ้านมาบอกผม ( กำนันว่า หะยีสะแปอิงฟันนายบุ้นกี่ (หรือนายเจ๊ะมะมิง) จีนเข้าแขกอิสลามถูกที่คอ มีอาการสาหัส..ฯ)
จากกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ ทางอำเภอได้ส่งปลัดอำเภอพร้อมด้วยตำรวจ ๑ นาย เสมียนมหาดไทย ๑ นาย ไปสืบสวนเรื่องนี้ วันที่ ๒๕ เมษายน ขณะออกสืบสวนได้พบชาวบ้านมุสลิมกำลังทำพิธีสมาธิและท่องบทสวด ชาวบ้านที่ทำหน้าที่ยามเห็นตำรวจจึงขับไล่ไม่ให้เข้าไปในพิธี เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสองนายพร้อมด้วยฝ่ายอำเภอต่างก็หลบหนีออกจากหมู่บ้านไปแจ้งนายอำเภอและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายหะยีอาซิส บุตรชายโต๊ะแปเราะ เล่าว่า ขณะนั้นตนอายุราว ๑๗ ปี ทราบว่าตำรวจได้แอบดูและยิงปืนขู่ จนชาวบ้านที่กำลังทำพิธีอยู่แตกตื่นและวิ่งออกมาจากพิธีไล่เจ้าหน้าที่จนไปถึงตลาดดุซงญอ เมื่อเจ้าหน้าที่หนีพ้นไปแล้วชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวก็ไปพักอาศัยในปอเนาะของโต๊ะแปเราะ
วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๒๖ เมษายน ตำรวจจึงเข้าปราบปรามชาวบ้านที่ก่อเหตุเหล่านั้น โดยมี ร.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา ร.ต.ต.พิงพันธ์ เนตรรังสี และร.ต.ต.กรี ไม่ทราบนามสกุล เป็นนายตำรวจหัวหน้าชุดและรองหัวหน้าชุดตามลำดับ ตำรวจได้จัดกำลังสองชุดซุ่มจับบริเวณข้างถนนสายดูซงญอ-บ้านกลีซา แล้วจัดตำรวจชั้นประทวนเป็นชุดล่อสี่นาย นำโดย สิบตำรวจตรีส่ง รุ่งเรือง ปรากฏว่าเมื่อชาวบ้านทำพิธีพบเห็นตำรวจจึงเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตทั้ง ๔ นายและถูกชุดซุ่มจับยิงชาวบ้านเสียชีวิตประมาณ ๗-๘ คน ฝ่ายตำรวจถอยหนีไปยังตลาดตันหยงมัส ในตอนนี้นายหะยีอาซิสเล่าว่า ขณะที่ชาวบ้านพักอยู่ในบริเวณปอเนาะโต๊ะแปเราะ บิดาของตนนั้น มีตำรวจ( ซึ่งเป็นชุดลอกล่อ) ได้มายิงปืนหน้าปอเนาะเพื่อให้ชาวบ้านออกมา จากนั้นชาวบ้านจึงออกมาขับไล่เจ้าหน้าที่อีกครั้ง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปะทะต่อสู้กันจนตำรวจชุดลอกล่อเสียชีวิตลและชาวบ้านก็เสียชีวิตไม่ทราบจำนวนด้วย (วรมัย กบิลสิงห์ บันทึกว่า’’เหตุการณ์ปะทะระหว่างตำรวจไทยกับมลายูในวันที่ ๒๖ นี้ ตำรวจไทยเสียชีวิต ๔ นายมลายูประมาณ ๑๐ คน ไม่แน่นอนเพราะเราเป็นฝ่ายถอย’’)
‘‘เล่ากันว่าชาวบ้านที่เสียชีวิต เพราะละเลยต่อข้อปฏิบัติที่ได้รับการสั่งสอนมา บางคนที่ถูกยิงเพราะขาดน้ำละหมาดหรือละเลยในสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และมีเรื่องเล่าจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ในระหว่างมีการปะทะกัน ชาวบ้านจะอ่านบทเนื้อหาของคัมภีร์อัล-กุรอาน ที่ว่า ยา ซัล ญาลา ลิวัล อิกรอม อันมีความหมายว่า อัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงอานุภาพยิ่ง ทำให้เจ้าที่ตำรวจเข้าใจว่าเป็นการกล่าวชื่อ ตนกู ยาลาลหรือนายอดุลย์ ณ สายบุรี ทำให้ตกเป็นผู้ต้องหาสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น’’
นายอารง บาโด เล่าว่า ‘’ในวันแรกมีการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับตำรวจที่สะพานไม้ข้ามน้ำใกล้ตลาดดุซงญอ มีชาวบ้านเสียชีวิต ๒ คน คือนายมะยาเบ กับนายโต๊ะวอ ลีมะ’’
วันที่ ๒๗ เมษายน ต่างฝ่ายต่างเตรียมพร้อม ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง
วันที่ ๒๘ เมษายน เป็นวันที่สามของการต่อสู้ กำลังตำรวจสนับสนุนเพิ่มติมมาจากสงขลาเดินทางไปยังดุซงญอ ขณะเดินผ่านป่าแห่งหนึงก็เกิดมีการปะทะต่อสู้กับชาวบ้านดุซงญอ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอีก ๑ นาย คือ พลสมัครวิน ไกรเลิศ
การปะทะต่อสู้กันระหว่างชาวบ้านดุซงญอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ครั้งนี้ วรมัย กบิลสิงห์ เขียนว่า ‘’เจ้าหน้าที่ตรวจพบกระสุนปืนคาไบร์และปลอกกระสุนปืนจำนวนมากในป่า ตำรวจไทยเสียชีวิต ๕ นาย บาดเจ๊บ ๑ นาย มลายูตายประมาณ ๓๐ คน บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน’’
สำหรับชื่อของนายมะติงา ซึ่งมีบางตำรากล่าวถึงว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับสงครามดุซงญอ ได้รับการปฏิเสธจากคนในพื้นที่ว่า มะติงาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามดุซงญอแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว นายมะติงา อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่นห่างจากดุซงญอไปในป่าอีกประมาณ ๑๓ กิโลเมตร เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้านจอมขมังเวท มีวิชายิงไม่เข้า มีพละกำลังมาก เล่ากันว่าเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเขาห้องขัง แต่สามารถง้างลูกกรงเหล็กพาผู้ต้องขังคนอื่นๆ หนีออกได้ สุดท้ายเสียชีวิติในบ้านป่าของตนเองมาหลายปีแล้ว
นายอารง บาโด เล่าว่า การปะทะกันครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นบนถนนสายดุซงญอ-ตันหยงมัส ชาวบ้านขับไล่เจ้าหนาที่ตำรวจจาก บ้านบูเกะยามู จนไปถึงบูเกะสือดาดู มีข่าวลือว่าตำรวจเสียชีวิตถึง ๑๗ คน ซึ่งความจริงไม่ถึงจำนวนดังกล่าว
และในวันที่สี่ของเหตุการณ์ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน นายอารง บาโด เล่าว่า มีเครื่องบินจำนวนมากบินวนเวียนเหนือฟ้าตลาดดุซงญอ ชาวบ้านเกรงกลัวต่างหลบหนีออกจากหมู่บ้านไปหลบซ่อนในป่า ชาวบ้านบางคนถูกตำรวจดักซุ่มยิงระหว่างหลบหนี เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ทราบจำนวน
นายหะยีอิสมาแอ เล่าว่า ‘’เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ร่วมก่อการจริงๆเพียง ๒๐๐ คน และชาวบ้านเสียชีวิตประมาณ ๗-๘ คน’’
จากเหตุการณ์ปะทะต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวบ้านดุซงญอครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งที่ร่วมและไม่ได้ร่วมต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ต่างกลัวจะถูกจับกุมดำเนินคดี และกลัวภัยจากเจ้าหน้าที่ที่จะแก้แค้นให้ตำรวจที่เสียชีวิต จึงแยกย้ายออกจากหมู่บ้านหลบหนีไปยังรัฐกลันตัน ตรังกานู เคดะห์ เประ ของสหพันธรัฐมลายา และบางคนหนีเข้าไปอยู่ในป่า จนบ้านดูซงญอกลายเป็นบ้านเมืองร้าง
ต่อมาทางราชการให้กำนันตำบลดุซงญอออกติดตามให้ชาวบ้านกลับมาและมอบตัวต่อทางการ โดยรับรองความปลอดภัยอย่างแข็งขัน ชาวบ้านที่หลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขาก็เข้ามามอบตัว กลับมาอยู่บ้านตามปกติ แต่มีชาวบ้านบางคนที่หลบหนีปไปยังเมืองต่างๆของมลายาไม่ได้กลับมา แล้วเปลี่ยนสัญชาติก็มีจำนวนมาก
สรุปได้ว่า สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างเจ้าหนาที่รัฐกับประชาชนตำบลดุซงญอที่ทางราชการเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘’กบฏดุซงญอ ‘’ นั้น เกิดจากการคุมคามของโจรจีนคอมมิวนิสคต์มลายา
เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้และเจ้าหน้าที่เข้าไปพบเห็น ชาวบ้านจึงเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่จะขัดขวางและทำลายพิธีกรรมดังกล่าว จึงขับไล่เจ้าหน้าที่ออกไปจากตำบลดุซงญอ เหตุการณ์บานปลายจนเกิดการปะทะต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตหลายคน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ประชาชนเกิดความหวาดระแวงต่อทางราชการจึงได้หลบหนีไปอยู่ที่อื่นจำนวนมาก มีเพียงชาวบ้านจำนวนหนึ่งอพยพกลับมาอยู่ที่บ้านตามปกติ หลังจากทางราชการให้การรับรองความปลอดภัย
รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนี้ มีผลสรุปของคณะกรรมการว่า ‘’โศกนาฏกรรมดุซงญอนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงกิจการศาสนาอิสลาม ‘’ กล่าวว่าคือ’’ การจลาจลเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด เนื่องจากมีการปะทะของชาวมลายูมุสลิมเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับไสยศาสตร์ คือพิธีอาบน้ำมนต์ที่เชื่อว่าทำให้อยู่คงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า เหตุการณ์นี้เป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าระงับ แต่ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดปะทะกัน ลุกลามใหญ่โตขึ้น’’ (อิมรอน มะลุลีม, ‘’ วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมมลายูภายในประเทศ’’, ๒๕๓๘.)
อย่างไรก็ตามยังมีชาวบ้านที่ไปอยู่ในรัฐต่างๆของสหพันธรัฐมลายาอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนาของตนหลายพันคน จนกลายเป็นพลเมืองของสหพันธรัฐมลายา ซึ่งก็คือประเทศมาเลเซียในเวลาต่อมา
ที่มา : ‘’เล่าขานตำนานใต้’’ นายอุดม ปัตนวงค์, ศรีศักร วัลลิโภดม,อับดุลเลาะห์ ลออแมน ,จำรูณ เด่นอุดม และคณะ (พ.ศ.๒๕๕๐ ), ‘ จีนกับโลกมลายู’ (พ.ศ.๒๕๕๑ )และบทความเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ หน้า ๕๔ – ๖๒
อ้างอิง : นายอารง บาโด อดีตกำนัน ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อ ปี ๒๕๔๙ ที่ ตลาดดุซงญอ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ นราธิวาส
อ้างอิง : นายหะยีอิสมาแอ ราษฏรอาวุโส ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อ ปี ๒๕๔๙ ที่ ตลาดดุซงญอ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ นราธิวาส
อ้างอิง : นายเซ็ง เจ๊ะแต ราษฏรอาวุโส ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อ ปี ๒๕๔๙ ที่ ตลาดดุซงญอ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ นราธิวาส
|