คนไทยเชื้อสายจีนที่บ้านดุซงญอ (รุ่นแรกและทายาท)
ความสวยงามในม่านหมอกแห่งสงคราม
ผมเดินทางไปบ้านดุซงญออีกครั้งหนึ่งในเช้าวันนี้ เพื่อไปถ่ายภาพ’มัสยิดดุซงญอ’ โดยเห็นเทือกเขาสันกลาคีรีเป็นฉากหลัง
สายจนตะวันโด่ง ผมถึงได้ไปถ่ายภาพถนนเส้นทางหลักของชุมชนดุซงญอตามคอนเซ็ปต์ที่ได้กำหนดไว้ในใจ
ภาพมัสยิดมูฮำมาดีซึ่งเพิ่งได้รับการบูรณะใหม่ทาสีสวยงามเป็นภาพประทับใจผมตั้งแต่เยาว์วัยจนบัดนี้ และจะว่าไปแล้วโดยพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประวัติศาสตร์มายาวนานจึงมีศาสนาสถาน โบราณสถานมากมายที่เกี่ยวข้องกับศรัธทาปสาทะของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ มุสลิม หรือคนไทยเชื้อสายจีน
แม้เมื่อ ณ สถานีที่แห่งนี้จะเคยเกิดเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ ๒๘ เมษยน ๒๔๙๑ ซึ่งถูกเรียกขานกันต่อมาว่า ‘สงครามดุซงญอ’หรือ’ปืแ ดุซงญอ ‘ หรือบ้างคนเรียกถึงขึ้นที่ว่าเป็น ‘กบฏดุซงญอ’ จนกลายเป็น’ฝันร้าย’ของผู้คนมากมาย กระทั่งถูกตอกย้ำด้วย ‘ไฟสงคราม’ที่กำลังลามเลียอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส อยู่ในขณะนี้ นับเนื่องจากเหตุการณ์ ‘สงครามดุซงญอ ‘ หรือ ‘ปือแ ดซงญอ’ผ่านมาได้เป็นเวลา ๖๓ปีแล้ว
นับได้หนึ่งปีกว่าจากการเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ และเป็นเวลาหนึ่งปีพอดีของโศกนาฏกรรมกรือเซะ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๓ รวมทั้งหลายๆเหตุการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นระลอกๆและหลายพื้นที่กลายเป็น ‘ดินแดนอันตราย’ในความรู้สึกของหลายผู้คน
ข้าพเจ้านำพาตัวเองไปนั่งย้อนรำลึกความหลังครั้งเยาว์ด้วยการไปทานอาหารเช้าที่ ‘ร้านสตอปา’ในตลาดดุซงญอได้กินทั้งข้าวยำ,นาซิดาแฆ, รวมถึงอาหารพื้นเมืองมลายูอื่นๆ อีกหลายหลากชนิด
ร้านสตอปาเป็นหนึ่งในร้านขายข้าวที่ข้าพเจ้ามักแวะเวียนไปทานอาหารเช้าเสมอๆถ้าได้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด อีกร้านหนึ่ง คือ’ร้านอาลี’ทั้ง ๒ ร้านเป็นร้านขายอาหารพื้นบ้านประเภทข้าวยำ ข้าวแกง นาซิดาแฆ ฯลฯ โดยชื่อร้านทั้งสองแห่งนี้คือชื่อเจ้าของร้านนั้นเอง
ความจริงแล้วในชุมชนบ้านดุซงญอยังมีร้านขายอาหารเช้าอีกหลายแห่ง เช่น บริเวณคิวรถแท็กซี่ดุซงญอ-ตันหยงมัส บริเวณสี่แยกก่อนเข้าสู่กลางชุมชนดุซงญอ ฯลฯ แต่ร้านที่กล่าวถึงคือร้านอันเป็นที่ฝากท้องของครอบครัวข้าพเจ้าตั้งนานมาแล้ว เป็นบางวัน,ยามที่พี่สาวหรือแม่ไม่ได้ประกอบอาหารภายในบ้าน ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนรสชาติของอาหารได้บ้าง เพราะอาหารที่บ้านมักจะเป็นเมนูอาหารจีนแคะเป็นส่วนใหญ่
เสร็จจากทานอาหารเช้าแล้ว เราเดินทางไปเลาะเลียบแวะไปชมความงามของลำคลองดุซงญอ ใกล้ๆ กันนั้นเคยเป็นที่ตั้งของปอเนาะเก่าแก่ก่อตั้งโดยโต๊ะครูชื่อ’โต๊ะแปรัฐ ‘หรือโต๊ะแปเราะห์’ แกนนำชาวบ้านที่เคยต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เมี่อครั้งเกิดเหตุการณ์’สงครามดุซงญอ-ปือแ ดุซงญอ’ หรือ’กบฏดุซงญอ’ ช่วงที่ลำน้ำดุซงญอไหลผ่านบริเวณนี้จึงถูกเรียกว่า’คลองแปเราะห์’ในเวลาต่อมา แวะเยี่ยมเยียนโรงเรียนเก่าสมัยประถม ‘โรงเรียนบ้านดุซงญอ’ ต่อจากนั้นเดินทางไปถึงสำนักสงฆ์ดุซงญอ พุทธสถานที่แทบเรียกได้ว่าเป็นแห่งเดียวในเขตอำเภอจะแนะก็ว่าได้ ต่อมาข้าพเจ้าแวะสุสานจีนซึ่งสะท้องถึงความเป็นชุมชนที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่กันมากในอดีต
ต่อมาดุซงญอคึกคักอีกครั้งช่วงยุคแห่งการ ‘ตื่นทอง’ที่โต๊ะโมะ บ้านละหาร เพราะจากดุซงญอไปถึงเหมือนทองระยะเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร ใช้เส้นทางผ่านอำเภอจะแนะไปอำเภอสุคิริน
พ่อของข้าพเจ้าเคยโดนจีนคอมมิวนิสต์จับตัวไปใช้แรงงานอย่างทารุณและเป็นเวลายาวนาน ขณะที่อายุได้ ๒๘ ปี กระทั่งเดินทางไปถึงมาเลเซียจึงเข้ามอบตัวต่อทางการ เพราะเกรงว่าจะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ต่อมาจึงเดินทางเข้าประเทศไทยโดยอาศัยทำกินอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ดุซงญออีกครั้งหนึ่งในฐานะคนต่างถิ่นที่ได้มาอาศัยแผ่นดินอับอบอุ่นพักพิง สมดังความหมายของคำว่า’’จีนแคะ หรือจีนฮากกา ซึ่งมีนัยว่าเป็น’อาคันตุกะจากแดนไกล’ แต่ข้าพเจ้าเองมักให้นิยามชีวิตของบรรพบุรุษว่าเป็น’อาคันตุกะจากโพ้นทะเล’ ที่เดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินสยาม
ไม่นานต่อมาที่พ่อเดินทางไปอยู่ที่ดุซงญอ จึงปรากฏมีครอบครัวมาอยู่อาศัยในดุซงญอเพิ่มมากขึ้นกระทั่งเป็นชุมชนจีนขนาดใหญ่ในกลุ่มชนมุสลิม
‘’ช่วงเกิดสงครามดุซงญอ’’ มีบ้านคนจีนอยู่ประมาณเจ็ดหลังคาเรือนเท่านั้น’’ พ่อย้อนความหลังเมื่อประมาณ๕๖ปีที่แล้วให้ฟัง
ดุซงญอในสมัยก่อนเจริญมาก มีโรงหนัง ๒ แห่ง มีโรงไฟฟ้าเอง มีประปาหมู่บ้าน ซึ่งพ่อเคยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วยคนหนึ่ง มีโรงแรม โรงเรียนจีน ฯลฯ นับเป็นชุมชนจีนชุมชนใหญ่แห่งหนึ่ง พ่อเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่มีรถจิ๊ปขับมีคนขับรถให้เป็นชาวไทยมุสลิม และการค้าการขายส่วนใหญ่ติดต่อกันระหว่างคนไทยพุทธ-มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน อย่างเป็นปกติ ไม่เคยมีปัญหาใดๆเกิดขึ้น
ด้วยความมีเอื้ออารี มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีดังเช่นครอบครัวคนไทย คนจีน อีกหลายๆครอบครัวพื้นที่ ดังนั้นในวันเทศกาลฮารีรายอ บ้านของเราจะเต็มไปด้วย ‘’ตูปะ’’และของกินประดาที่พ่อแม่พี่น้องมุสลิมเมตตานำมาให้ด้วยน้ำใจ ในขณะเดียวกันช่วงเทศกาลตรุษจีน พ่อจะนำพวกขนมเข่ง ผลไม้จำพวกส้ม เป็นอาทิ ไปมอบให้กับพี่น้องมุสลิม ที่รู้จักและได้คบหากันฉันญาติมิตร
การที่คนไทยมุสลิมในพื้นที่เรียกพ่อว่า’’จาโก’’ หรือชื่อนายเอี่ยวเป่งซุน แซ่ย่อง เพราะเปรียบเทียบว่าพ่อทำการค้าเก่ง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เหมือนกับการเอาจอบซึ่งภาษามลายูถิ่น คือ จาโก มากอบดิน เปรียบแล้วก็เหมือนการกวาดข้าวของมีค่าเข้าหาตัว ส่วนแม่นั้นชาวบ้านเรียกว่า’’เจ๊ะแมะ’’
ในเวลาต่อมาครอบครัวคนจีนในพื้นที่เริ่มทยอยย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ ด้วยเหตุผลนานาประการ บ้างก็ตามไปอยู่กับลูกหลาน บ้างไปเปิดกิจการอยู่ในเมืองที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะแถบอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กระทั่งปัจจุบันมีครอบครัวคนจีนพักอาศัยอยู่ในตลาดดุซงญอไม่ถึง ๒๐ หลัง ในจำนวนนั้นรวมถึงพี่ชายข้าพเจ้าคนหนึ่งด้วย
ระหว่างการตระเวนเยี่ยมบ้านเกิด ข้าพเจ้าต้องหยุดพักแวะทักทายกับผู้คนที่รู้จักหลายคน ทั้งเพื่อนรุ่นเดียวกันและผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ซึ่งมักจะถามเป็นภาษามลายูว่า’’ อาเนาะ จาโก’’ (ลูกนายจาโกใช่มั้ย) หรือ’’อาเนาะ เจ๊ะแมะ’’ (ลูกนางเจ๊ะแมะใช่มั้ย) ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ‘’ยอเดาะ อีงะเตาะเละเดอะ’’ (ใช่แล้วครับ ทำไม? จำไม่ได้แล้วหรือ) ทำให้อดหวนรำลึกถึงคืนวันเก่าๆไม่ได้
ดุซงญอในม่านหมอกแห่งไฟสงครามวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีอาคารบ้านเรือนปลูกสร้างใหม่หลายหลัง ส่วนบ้านไม้หลังเก่าที่ไม่มีคนอยู่หรือดูแลก็ผุพังไปตามสภาพ แต่จุดที่ไม่เปลี่ยนคือบริเวณใจกลางหมู่บ้านมีมัสยิดใหญ่ตั้งเด่นตระหง่านชื่อว่า ‘’ มัสยิดมูฮำมาดี’’ เป็นมัสยิดที่เพิงสร้างได้ไม่นานโดยมีข้อมูลว่ามีผู้ออกแบบเป็นชาวปากีสถาน ฯ มีขนาดและรูปทรงสี่สวยงามมากหรือที่ฝั่งศพของพี่น้องไทยมุสลิม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่เปลี่ยนไปแน่นอน ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านเนิ่นนานไปเพียงใด ก็คือความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างคนไทยมุสลิมและคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี ไม่ว่าผู้คนหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าไปกี่ยุคสมัยแต่ความรู้สึกแห่งความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติ ยังคงสถิตอยู่ในดวงใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน หรือคนไทยมุสลิม
พ่อ แม่ และพี่ๆ ข้าพเจ้าหลายคน นอกจากมีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยแล้ว ล้วนได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาจีนและภาษามลายูถิ่น ชื่อของหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่อาศัยตั้งแต่เด็กก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง พวกเราเรียกขานหมู่บ้านซึ่งเป็นถิ่นอาศัยมานานปีว่า ‘’ดุซงญอ’’
อ้างอิง: ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ , สารคดีสะท้อนชีวิตผู้คน ณ ชายแดนใต้ ,เซ็กชั่นจุดประกาย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๘ หน้า ๔,๖,๗,๘,๙,๑๗
อ้างอิง: ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงค์ , จิตรวิญญาณระหว่างขุนเขา บูโด-สันกลาคีรี หน้า ๗๕ – ๑๐๕
อ้างอิง : นายเอี่ยวเป่งซุน แซ่ย่อง ปัจจุบันเป็นราษฏร ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อ ปี๒๕๔๘ เคยอยู่ที่ ตลาดดุซงญอ ๗๗ ปี ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ นราธิวาส
|