คนไทยเชื้อสายจีนที่บ้านดุซงญอ(รุ่นสุดท้าย)
ความสวยงามในม่านหมอกแห่งสงคราม

คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นสุดท้ายที่ 'ดุซงญอ'
บ้านดุซงญอ อยู่ในท้องถิ่นอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นหมู่บ้านที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยว่า มีชาวบ้านรวมตัวเข้าต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางการได้กล่าวว่าเป็น
''กบฏดุซงญอ''
หมู่บ้านเล็กๆที่กันดารและอยู่ห่างไกลนี้เคยมีเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจมากมาย เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาวจีนอพยพจากแผ่นดินจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อย่างถาวรมาตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
นายเชาว์ แซ่ฮ่อ อายุ ๗๔ ปี ขายของเบ็ตเตล็ดในตลาดดุซงญอได้เล่าเกี่ยวกับครอบครัวว่า บิดาชื่อ นายแวกจ้าย แซ่ฮ่อ แม่ชื่อ นางปึ๊กอึ้ง บิดาอพยพมาจากเมืองจีนทางทะเล ขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย แล้วเดินทางล่องใต้โดยรถไฟไปที่สถานีรถไฟตันหยงมัส แล้วลงเรือที่ตลาดตันหยงมัส ล่องเรือทวนน้ำจนไปถึงบ้านดุซงญอ อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวของอาที่เดินทางมาอยู่ก่อนแล้ว
ต่อมาเปิดร้านขายกาแฟและรับเย็บผ้าได้หนึ่งปีจนตนเองเกิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๘จีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม)เข้ามาในตลาดดุซงญอ ริบทรัพย์สินชาวบ้าน ที่บ้านของตนนั้น พวก จคม. เอาจักรเย็บผ้ารวมทั้งผ้าไปจำนวนมาก ทราบว่าลูกชายกำนันถูก จคม. จับตัว สั่งให้แบกของไปส่งที่ชายแดนแต่ระหว่างทางละแวกพักที่บ้านจะแนะก็สามารถหลบหนีมาได้ ต่อมาได้เป็นกำนันแทนบิดา
กำนันมะ ได้ทำประโยชน์แก่ท้องถิ่นมากที่สุดและมีบารมีสูง ในสมัยที่เป็นกำนันตำบลจะแนะ ที่ทำการกำนันอยู่ที่บ้านดุซงญอ ชาวบ้านอยู่อย่างสงบสุขไม่มีโจรผู้ร้าย ไม่มีคดีอุกฉกรรจ์ ไม่มีปัญหายาเสพติดเหมือนปัจจุบัน ทั้งๆที่บ้านดุซงญอในสมัยนั้นไม่มีสถานีตำรวจ และตำรวจจากตันหยงมัสจะเข้าไปประมาณเดือนละครั้ง ไม่มีสถานีอนามัย ถ้ามีคดีร้ายแรงหรือเจ็บป่วยอาการหนักจะต้องหามคนป่วยเดินเท้าไปที่สถานีอนามัยตันหยงมัสระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร หรือถ้ามีการกระทำผิดกฎหมาย กำนันจะจับกุมและนำตัวผู้ต้เองหาเดินเท้าไปยังสถานีตำรวจตันหยงมัสเช่นเดียวกัน
เพราะสมัยนั้นบ้านดุซงญอยังไม่มีรถยนต์ ครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาจากเมืองจีนเข้ามาอยู่ที่บ้านดุซงญอ นอกจากครอบครัวของตนเองแล้วยังมีครอบครัวของ นายฉ่ำจ้าย แซ่ฮ่อ สามีของ นายแมะบูงอ ซึ่งเป็นชาวจีนเกิดที่บ้านกาลีซา มีชื่อภาษามลายูแปลเป็นภาษาไทยว่า นางดอกไม้
ครอบครัวของ นายนกจ้าย แซ่ฮ่อ เป็นพี่ของ นายฉ่ำจ้าย คนมลายูเรียกว่า ‘’จีนนออาเนาะ‘’ ครอบครัวของ อาพุ มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า’’ลาเต๊ะ’’และยังมีอีกหลายครอบครัว ครอบครัวชาวจีนอพยพเหล่านี้เป็นรุ่นบุกเบิกที่เข้ามาอยู่บ้านดุซงญอ รวมตัวเป็นกันกงสี ทำสวนยาง สวนผลไม้ และค้าขายอย่างถาวรจนมีลูกหลานต่อมามากมาย
เรื่องราวจากปากของ นายเชาว์ ทำให้มีโอกาสได้รับรู้อดีตความเป็นมาของคนไทยเชื้อสายจีนที่บ้านดุซงญออย่างชัดเจน แต่ยังมีความรู้สึกข้องใจสงสัยว่า เพราะเหตุใดชาวจีนอพยพเหล่านี้จะต้องเดินทางไกลจากเมืองจีนผ่านความทุกข์ยากลำบากในการเดินทางมากมาย แทนที่จะตั้งหลักฐานในชุมชนที่มีความสะดวกสบาย แต่ตัดสินใจดั้นดันล่องเรือทวนน้ำเข้ามาอยู่ที่บ้านดุซงญอ ซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านชาวมลายูมุสลิมที่อยู่ห่างไกลความเจริญและกันดาร บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี แต่นายเชาว์ไม่สามารถที่ตอบคำถามนี้ได้ เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า ๗๕ ปี และมีลูกหลานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นายเชาว์เล่าต่อว่า พ่อแม่ของตนเองมีลูกทั้งหมด ๖ คน ตนเองเป็นคนโตคนรองเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก คนที่ ๓ ซึ่งภาษามลายูว่า อาหามะ หรือนายสุนทร เป็นเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นเรียนกับผู้เขียนที่โรงเรียนบ้านดุซงญอ คนที่ ๔ ชื่อญิน คนที่ ๕ ชื่อญุก และคนที่ ๖ ชื่อ กุ้ง ทั้งห้าคนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านดุซงญอทั้งสิ้น
นายเชาว์เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๙๑ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่บ้านดุซงญอ มีชาวบ้านรวมตัวกันในถ้ำแห่งหนึ่งและมีการอาบน้ำมันที่เชื่อว่าสามารถป้องกันอาวุธได้ จากนั้นจึงเดินทางมารวมตัวตรงริมฝั่งคลองบ้านดุซงญอ โห่ร้องเสียงอื้ออึงตรงกันข้ามกับตลาดซึ่งอยู่คนละฝั่งคลอง เตรียมลงเรือข้ามลำคลองที่มีน้ำไหลเชี่ยวเพราะเป็นฤดูน้ำหลาก ชาวจีนที่อยู่ในตลาดเมื่อรับรู้เหตุการณ์ก็รีบปิดบ้านและร้านค้าอย่างรวดเร็ว เก็บตัวอยู่ในบ้านของตน แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่มีคนจีนถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต ส่วนความเป็นไปภายนอกการปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับตำรวจจะเป็นอย่างไร ไม่ค่อยรู้มากนัก ชาวบ้านคงจะเสียชีวิตหลายคน เพราะมีเพียงมีดดาบ กริซ และหอบเท่านั้น
เหตุการณ์จีนคอมมิวนิสต์มลายูเข้าปล้นสะดมทรัพย์สินชาวบ้านและเหตุการณ์ลุกฮือของชาวบ้านปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บ้านดุซงญอ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีผู้สนใจและได้พยายามบอกเล่า บันทึกเรื่องราวต่างๆมากมาย อาจแตกต่างไปบ้างเป็นธรรมดา เพราะผู้บอกเล่าและบันทึกส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คนดุซงญอที่ร่วมสมัยหรืออยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายเชาว์เล่าต่อว่า ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๕ บ้านดุซงญอเป็นศูนย์กลางการค้าที่คึกคักมาก มีชาวจีนอยู่ประมาณ ๑๐๐ ครัวเรือน ใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร คนจีนที่พูดภาษามลายูได้ส่วนมากจะมีชื่อเรียกเป็นภาษามลายูด้วย สมัยนั้นข้าวสารหนึ่งกระสอบหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม ราคาไม่ถึง ๒๐๐ บาท ราคายางสูงถึงกิโลกรัมละ ๒๐ บาท ซึ่งแพงมากในช่วงกว่า ๕๐ ปีทีผ่านมา มีร้านขายทองหลายร้าน มีโรงหนัง 2 โรง มีโรมแรม ร้านขายปลาที่ชาวบ้านเรียกว่าร้านปะจูอีแกของคนจีน
โรงเรียนบ้านดุซงญอนั้น นักเรียนไม่ว่าจะเป็นคนจีนหรือคนมลายูจะสื่อสารกันด้วยภาษามลายูทั้งหมด ใช้ภาษาไทยน้อยมาก เพราะไม่ค่อยสันทัดครูโรงเรียนบ้านดุซงญอมีสองคน คือ ครูสมหวัง อามิง สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๒ และ ครูเสงี่ยม ศรีบุตร สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓-๔ ศิษย์เก่าที่นี่หลายคนประสบความสำเร็จ เป็นนายแพทย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ๒ คน นายอำเภอ และครูบาอาจารย์อีกหลายคน
บ้านดุซงญอผ่านเหตุการณ์สำคัญในอดีตหลายเหตุการณ์โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย นับตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมาเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดจากการก่อกวนของสมาชิกพรรคอมมิวนิสต์มลายา เหตุการณ์ที่เกิดจากขบวนการก่อการร้าย แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงมากยิ่งจนมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธหรือชาวมลายูมุสลิม จนทุกคนตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว และหลายคนต้องสังเวยชีวิตอย่างน่าเศร้าใจยิ่งนัก
โดยเฉพาะคนดีที่ไม่ได้กระทำความผิดถูกทำร้าย ถูกฆ่า แต่ผู้กระทำความชั่วก็ยังลอยนวล ได้ถามนายเชาว์ว่า ในสถานการณ์ที่ทุกคนหวาดผว่าแบบนี้ ทำไมยังคิดที่จะอยู่ในพื้นที่ต่อไป นายเชาว์ตอบว่า ‘’ใช่ สถานการณ์ในปัจจุบันมันน่ากลัว จะไปไหนมาไหนไม่สะดวกเลย รู้สึกหวาดระแวงและหวาดกลัวไปหมด ในปัจจุบันมีครอบครังชาวจีนเหลือเพียง ๑๒ ครอบครัวเท่านั้น ‘’ ซึ่งผลกระทบนั้นมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม สมัยก่อนที่โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาอาละวาด รีดไถทรัพย์สินชาวบ้านก็ยังไม่รู้สึกหวาดกลัวเช่นนี้ เพราะนานๆครั้งจึงจะเข้ามาในตลาด ในสมัยที่ขบวนการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัวอะไร คนที่ไม่เกี่ยวข้อง ผู้หญิง เด็ก และคนชราจะไม่ถูกทำร้าย ในอดีตบางครั้งที่เกิดเหตุการณ์ยังเจรจากันได้ เพราะมีหัวหน้ากลุ่มที่ชัดเจน รู้ว่าต้องการอะไรเช่น รีดไถขอเงินค่าคุ้มครอง
แต่ปัจจุบันยังไม่รู้พวกไหนทำ ทำร้ายกันไม่เลือกหน้า ตั้งแต่มีเหตุการณ์ปล้นปืนเป็นต้นเหตุ ความรุนแรงก็ทวีขึ้น จนกระทั้งปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าใครทำ และทำไปเพื่ออะไร อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนเชื้อสายจีนก็จะอยู่ที่นี่ เพราะยังสามารถประกอบอาชีพค้าขายและทรัพย์สินก็พอมีบ้าง ปัจจุบันนายเชาว์อายุ ๗๒ ปีและยังไม่รู้จะย้ายไปที่ไหน มีลูกทั้งหมด ๕ คน เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านดุซงญอทั้งหมด คนโตเป็นผู้หญิง จบปริญญาโท ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คนที่สองเป็นผู้หญิง จบปริญญาโทเช่นเดียวกัน คนที่สามเป็นผู้ชาย จบวิศวกรรมไฟฟ้า คนที่สี่เป็นผู้ชายจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ และคนที่ห้าจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันเกษม ต่างแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพที่อื่นหมด ตั้งแต่มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายหทารปีเหล็ง ชาวจีนที่บ้านดุซงญอถูกยิง ๓ คน นายอิน แซ่ว่อง มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า เปาะมะ ถูกยิงแต่ไม่ตาย และย้ายไปอยู่กับลูกที่จังหวัดนครปฐม ลูกนางแมะบูงอ ถูกยิงแต่ไม่ตายยังอยู่ที่ดุซงญอกับแม่ รับซื้อยางพาราและไม่ยอมย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนนายเจ๊ะปูเต๊ะ ถูกยิงเสียชีวิต
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ปล้นปืนมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ นายเชาว์ยืนยันว่าเขาเป็นคนจีน นับถือศาสนาพุทธ และมีขนมธรรมเนียมประเพณีแบบจีน สามารถอยู่ร่วมกับคนมลายูมุสลิมโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะอยู่ร่วมกับคนมลายูมุสลิมมาตั้งแต่สมัยพ่อ คือเมื่อ ๗๐ กว่าปีมาแล้ว ไม่มีปัญหาขัดแย้งรุนแรงจนต้องหลบหนีออกจากหมู่บ้าน จนถึงเดี่ยวนี้ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ขอเพียงสื่อสารกันด้วยภาษาที่เข้าใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามความจำเป็น นายเชาว์ยังนึกไม่ออกว่าความไม่สงบครั้นนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด ยังไม่รู้ว่าใครจะแก้ไขปัญหาให้สงบเหมือนเดิมขนาดมีกำลังเจ้าหน้าที่มากมายอย่างนี้ เหตุการณ์รุนแรงยังเกิดขึ้นเป็นรายวัน ร้านของนายเชาว์มีลูกค้าเข้าออกและสามารถขายของได้ตลอด และสื่อสารกันด้วยภาษามลายู ลูกสาวของ นางกิมอร แซ่ฮ่อ มีชื่อภาษามลายูว่า เจ๊ะซง บอกว่า ปัจจุบันอยู่กับพ่อซึ่งมีอายุ ๗๒ ปีไม่ยอมไปอยู่ที่อื่น ส่วนพี่น้องอีก ๗ คน ย้ายไปประกอบอาชีพที่อื่นแล้ว
ก่อนจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ กล่าวได้ว่า คนจีน คนไทย และคนมลายูที่ดุซงญอสามารถอยู่ร่วมกันได้
เพราะทุกคนต้องการอยู่อย่างสงบขอเพียงไม่ถูกกดขี่ข่มเหง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น
อ้างอิง; ‘’เล่าขานตำนานใต้’’ นายอุดม ปัตนวงค์, ศรีศักร วัลลิโภดม,อับดุลเลาะห์ ลออแมน ,จำรูณ เด่นอุดม และคณะ (พ.ศ.๒๕๕๐ ), ‘ จีนกับโลกมลายู’ (พ.ศ.๒๕๕๑ )และบทความเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีในท้องถิ่นสามจังหวัดภาคใต้ หน้า ๖๓ - ๖๘ ,อ้างอิง : นายเชาว์ วงค์อกนิษฐ์ ราษฏร ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อ ปี ๒๕๕๒ ที่ ตลาดดุซงญอ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ นราธิวาส
|