(ต่อ)
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน
หมู่ที่ ๔ บ้านเมาะตาโก๊ะ ตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ประวัติหมู่บ้าน
ประมาณ ๖๐ ปีที่แล้วมี นายมะ ตาโก๊ะ เป็นบุคคลมาจากพื้นที่อื่นจัดทำสวน และได้สร้างบ้านเรือนตั้งถิ่นอยู่ประจำมีลูกหลานและมิตรสหายขยายบ้านเรือนเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกลายเป็นกลุ่มบ้าน จึงเรียกขานหมู่บ้านนี้ว่ากลุ่มบ้านเมาะตาโก๊ะ มาจากชื่อของ นายมะ ตาโก๊ะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบ้าน ลูโบ๊ะ และทั้ง ๒ กลุ่ม ก็เป็นกลุ่มบ้านที่ขึ้นกับหมู่บ้านริแง หมู่ที่ ๓ ตำบลผดุงมาตร ปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ กลุ่มบ้านเมาะตาโก๊ะ ได้แยกจากหมู่บ้านริแงและได้ยกระดับเป็นหมู่บ้านเมาะตาโก๊ะ หมู่ที่ ๔ ตำบลผดุงมาตร โดยมีนายมะ หะยีสาและ เป็นผู้ใหญ่บ้าน อาณาเขตหมู่บ้านจะใช้แนวสายน้ำ ชื่อว่าสายน้ำ “การัม” ซี่งมีประวัติเล่าขานว่า สมันอดีตบริเวณนี้เป็นป่าละเมาะ ซึ่งมีสัตว์ร้ายนานาชนิดชุกชุม ฉะนั้น การัม ภาษาของคนตามแนวชายแดนมาเลเซียแปลว่า ดุร้าย
ตำบลจะแนะแยกการปกครองจากอำเภอระแงะและยกฐานะเป็นอำเภอจะแนะ พื้นที่ผดุงมาตร ก็เป็นส่วนหนึ่งของตำบลดุซงญอ ประกอบด้วย ๔ หมู่บ้านคือ หมู่ที่๑ บ้านแอแจ๊ะ, หมู่ที่ ๒ บ้านบือจะ, หมู่ที่ ๓ บ้านริแง และหมู่ที่ ๔ บ้านเมาะตาโก๊ะ และเมื่อปี ๒๕๓๒ พื้นที่ผดุงมาตรได้แยกจากตำบลดุซงญอ หมู่ที่ ๓ บ้านริแง และแยกกลุ่มบ้านลูโบ๊ะ จาก หมู่ที่ ๓ บ้านเมาะตาโก๊ะ เป็น หมู่ที่ ๖ บ้านลูโบ๊ะ
๑. ที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือจรดบ้านลูโบ๊ะ ตำบลผดุงมาตร
ทิศใต้จรดบ้านลูโบ๊ะลาเซาะ ตำบลร่มไทร อ.สุครีริน
ทิศตะวันออกจรดบ้านวังทอง ตำบลบองอ
ทิศตะวันตกจรดบ้านสะโก ตำบลจะแนะ
๒. ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศรอบหมู่บ้าน เป็นที่ราบเนินเขา ลาดเอียงจากทิศตะวันออกทิศตะวันตก จากเทือกเขาตะเว
ลักษณะผิวดิน เป็นดินร่วนปนทราย
ลักษณะพืชพันธุ์ไม้ ส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐% ของพื้นที่ เป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้เนื้ออ่อน เช่น ยางพารา และหมาก ที่เหลือเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ลองกอง มังคุด เงาะ และทุเรียน
๓. สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศคลอดทั้งปีมี ๒ ฤดูกาล สภาพอากาศเป็นแบบร้อนชื้น
- ช่วงเวลาของฤดูฝน ๗ เดือน ฝนตก จะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.ตกหนักเดือนพ.ย.ถึง ม.ค.
- อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส
๔. ประชากร
จำนวนประชากรทั้งสิ้น ๓๑๓ คน ชาย ๑๕๘ คน หญิง ๑๕๕ คน จำนวนครัวเรือน ๑๒๖ ครอบครัว
การกระจายตัวของประชากรจะมีการตั้งถิ่นฐาน โดยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มบ้าน ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน ลักษณะครอบครัวจะอยู่ร่วมกับพ่อ แม่ ลูก หลาน จะปลูกเรือนอยู่รวมกันตามสวนหรือในเขตบริเวณรั้วเดียวกัน ลักษณะอาคารบ้านเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านอิฐชั้นเดียว และบ้านครึ่งอิฐครึ่งไม้
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน
หมู่ที่ ๕ บ้านไอร์ปีแซ ตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ประวัติหมู่บ้าน
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้าครองมาเลเซีย และมีชาวบ้านในมาเลเซีย ตามแนวชายแดน ได้อพยพถิ่นฐานจากบ้านเกิด เข้ามายังประเทศไทย บางกลุ่มก็ออกทำงานรับจ้างขุดทอง บ้านโต๊ะโม๊ะ อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส และส่วนที่กระจัดกระจายเข้ามาทำกินบริเวณริมคลองบองอ เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และปลูกสวนกล้วยเป็นการดำรงชีพโดยตั้งชื่อว่า “ ไอร์ปีแซ” มีความหมายว่า “ ไอร์ ” คือ น้ำ , “ ปีแซ” คือ กล้วย รวมคำแล้วแปลว่า “น้ำกล้วย” หรือกล้วยอยู่ริมน้ำ ในปัจจุบัน บุคคลที่เข้ามาอาศัยยุคแรก ปัจจุบันยังมีชีวิตเหลือแค่คนเดียว คือ นาย เปาะจิดอเล๊าะ บ้านเลขที่ ๑๑๒ หมู่ที่ ๕ บ้านไอร์ปีแซ ตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เกิด ๑ เม.ย.๒๔๕๘ ตามหลักฐานในสำเนาทะเบียนบ้าน แต่ทางนาย ดือราแม เจ๊ะเล๊าะ ผู้ใหญ่บ้านไอร์ปีแซ บอกว่าไม่ตรงกับความจริง ขณะที่ทางอำเภอสำรวจก็โดยถามผู้ใกล้ชิด แต่อายุปัจจุบันนี้ ประมาณ ๑๐๐ กว่าปี ซึ่งนาย เปาะจิ ดอเล๊าะ อยู่กับนางแอเสาะ ลาเต๊ะ อายุ ๕๘ ปี เป็นบุตรดูแลอยู่
๑. ที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือจรดบ้านบือจะ ตำบลผดุงมาตร
ทิศใต้จรดบ้านริแง ตำบลผดุงมาตร
ทิศตะวันออกจรดคลองบองอ,บ้านบือแจง ตำบลบองอ
ทิศตะวันตกจรดบ้านละหาร และ บ้านมะนังซีโปร์ ตำบลจะแนะ
๒. ลักษณะภูมิประเทศ
รอบหมู่บ้าน เป็นที่ราบเนินเขา ลาดเอียงจากทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก
จากเทือกเขาตะเว บ้านไอร์ปีแซ มีพื้นที่ทั้งหมด ๒,๒๕๒ ไร่
ลักษณะผิวดิน เป็นดินร่วนปนทราย
ลักษณะพืชพันธุ์ไม้ ส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐% ของพื้นที่ เป็นไม้ยืนต้นจำพวกไม้เนื้ออ่อน เช่น ยางพารา และหมาก ที่เหลือเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ลองกอง มังคุด เงาะ และทุเรียน
ลักษณะผิวดิน เป็นดินร่วนปนทราย
๓. สภาพภูมิอากาศ
- ลักษณะภูมิอากาศคลอดทั้งปีมี ๒ ฤดูกาล สภาพอากาศเป็นแบบร้อนชื้น
- ช่วงเวลาของฤดูฝน ๗ เดือน ฝนตก จะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ตกหนักเดือนพ.ย.ถึง ม.ค.
- อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส
๔.สภาพทางสังคมจิตวิทยา
๔.๑ ประชากร จำนวนทั้งสิ้น ๓๑๓ คน เป็นชาย ๑๕๘ คน หญิง ๑๕๕ คน
๔.๒ จำนวนครัวเรือน ๙๗ ครอบครัว
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน
หมู่ที่ ๖ บ้านลูโบ๊ะ ตำบลผดุงมาตร อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส
ประวัติหมู่บ้าน
ประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว บ้านลูโบ๊ะ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบล้อมด้วยภูเขา มีแม่น้ำลำธารอันสวยงามมีสัตว์ป่าและสัตว์น้ำนานาชนิดและเป็นที่ยอมรับของคนในยุคนั้น ตามประวัติที่เล่าขานนั้นกล่าวว่าบุคคลคนแรกที่เข้ามาในพื้นที่นี้คือ โต๊ะเจ๊ะเงาะ ซึ่งได้เดินทางมาเพื่อหาสัตว์ต่างๆ พอมาถึงบริเวณนี้ท่านก็เห็นว่าทรัพยากรต่างๆ อุดมสมบูรณ์ น่าอยู่ ก็เลยได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานและมีครอบครัวที่นี่ ในสมัยนั้นยังไม่มีชื่อกลุ่มบ้าน วันหนึ่งท่านเดินทางไปหาปลาเห็นริมแม่น้ำลำคลองขนาดใหญ่ (แม่น้ำที่เป็นอาณาเขตระหว่างตำบลผดุงมาตรและตำบลบองอ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านในปัจจุบัน) และมีสัตว์น้ำนานาชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาเล็กและปลาใหญ่ มีจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของท่านเป็นอย่างยิ่ง นานๆ ก็เลยเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าพระยาระแงะได้เสด็จมาหาปลาที่นี่และประทับที่บ้านโต๊ะเจ๊ะเงาะเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน หลังจากนั้น โต๊ะเจ๊เงาะ ได้เปิดกลุ่มบ้านและทำสวน โดยใช้เงาะป่า(ซาไก) เป็นคนงานและได้ตั้งชื่อว่า ลูโบ๊ะ แบแร (ลูโบ๊ะ แปลว่า หนองน้ำ แบแร แปลว่า สถานที่ตั้ง ปัจจุบันชื่อสถานที่แห่งนี้อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่๓ บ้านริแง ต.ผดุงมาตร) ซี่งต่อมามาได้เรียกชื่อว่า ลูโบ๊ะมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า “ลูโบ๊ะ” ก็แปลว่า หนองน้ำนั้นเอง
๑. ที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือจรดบ้านริแงตำบลผดุงมาตร
ทิศใต้จรดบ้านเมาะตาโก๊ะ ตำบลผดุงมาตร
ทิศตะวันออกจรดบ้านแหบ้านย่อยของบ้านบองอ ตำบลบองอ
ทิศตะวันตกจรดบ้านยาลอ ตำบลจะแนะ
๒. ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มสลับร่องน้ำ พื้นที่ทั่วไปเป็นสวนยางพารา สวนผลไม้บางส่วนเป็นภูเขา
ลักษณะผิวดิน เป็นดินร่วนปนทราย
ลักษณะพืชพันธุ์ไม้ ส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐% ของพื้นที่ เป็นไม้ยืนต้นจำพวก
ไม้เนื้ออ่อน เช่น ยางพารา และหมาก ที่เหลือเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ลองกอง มังคุด เงาะ และทุเรียน แหล่งน้ำที่สำคัญ คือ คลองบองอ
๓. ลักษณะภูมิอากาศ
- ลักษณะภูมิอากาศคลอดทั้งปีมี ๒ ฤดูกาล สภาพอากาศเป็นแบบร้อนชื้น
- ช่วงเวลาของฤดูฝน ๗ เดือน ฝนตก จะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. ตกหนักเดือนพ.ย.ถึง ม.ค.
- อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส
๔. จำนวนประชากร
จำนวนครัวเรือน ๙๒ ครัวเรือน
จำนวนประชากรทั้งสิ้น ๔๘๘ คน เป็นชาย ๒๕ คน หญิง ๒๓๘ คน
ที่มา : พัฒนาชุมชนที่ทำการปกครองอำเภอจะแนะ,บัณฑิตกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ๒๕๔๕,ผู้นำชุมชน,ผู้ศาสนา,ผู้นำท้องถิ่น.ปรับปรุง ๒๕๖๐
|