แด่....อนุชนรุ่นหลัง

สื่อมวลชนเสนอข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบในปี ๒๔๙๑
ตำนาน ‘’กบฏดุซงญอ’’
แด่.....อนุชนรุ่นหลัง
ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนใต้ โดย...พล ต.ท.พิงพันธ์ เนตรรังสี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๔ ขณะเข้าปราบกบฏดุซงญอ นั้น มียศเป็น ร.ต.ต.ในวัย ๒๑ ปี ตำแหน่ง ผบ.หมวด สภอ.เมืองนราธิวาส ได้บันทึกเหตุการณ์ในมุมมองเจ้าหน้าที่รัฐ...
เนื้อหาโดยสรุปมีว่า.... ปี ๒๔๙๑ มีกลุ่มก่อการร้ายที่มีอุดมการณ์แย่งแยกดินแดนทั้งนอกและในพื้นที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้า ๖ คน รวบรวมสมัครพรรคพวก ๓๐๐ คนฝึกอาวุธปืน และดาบรวมทั้งทำพิธีอาบน้ำมันศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้อยู่คงกระพันที่ภูเขา ‘’ฆูวอลือมู’’ บ้านยารอ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๙๑ กลุ่มดังกล่าวได้ยกกำลังลงจากภูเขามาทำร้ายประชาชน และเข้ายึดหมู่บ้านดุซงญอ ทางการส่งกำลังเข้าปราบปราม วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ แต่กำลังน้อยกว่า จึงกลับมาใหม่พร้อมกำลัง ๑๐๐ นาย ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ทว่ายังยึดหมู่บ้านคืนไม่ได้ แต่ทำให้ผู้ก่อการได้รับบาดเจ็บ ล้มตายหลายคน วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๑ ระดมกำลังทั่วภาคใต้ บุกยึดคืนอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าจับกุม ผู้ก่อการหลบหนีไปเสียก่อนจึงยึดหมู่บ้านได้ สุดท้ายมีการฟื้นฟูหมู่บ้านและชาวบ้านที่หนีตายได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน
จากคำรำลือว่า ‘’กบฏดุซงญอ’’ เป็นเหตุให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ภาคใต้อนุชนรุ่นหลังต่อการศึกษาข้อเท็จจริง แต่เพราะการขาดการบันทึก และผู้เฒ่าที่รอดชีวิต ถูกบันทึกตราหน้าว่าเป็นกบฏ ต่างปล่อยความทรงจำอันบาดลึกตกตายไปกับตัว จนทำให้คนรุ่นหลังแทบจะลืมเลือนไปแล้วว่า
เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑ ย้อนหลังไปเพียง ๖๓ ปี เคยบังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในหมู่บ้านดุซงญอของเรา
จากการสอบถามข้อเท็จจริงจาก โต๊ะเปาะสู แต่ความจำร่วงโรยไปตามสภาพความชราเกือบ ๑๐๐ ปี และนายอารง บาโด ปี อดีตกำนันตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ได้เล่าเรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อตา (นายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์) ว่าชาวบ้านไม่ได้ก่อกบฏแต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.)ที่นำพวกมาปล้นหมู่บ้าน แต่ทางการเข้าใจผิดยกกำลังมาปราบ ทำให้ชาวบ้าน ราษฏรที่มีเพียงมีดถูกยิงตายเป็นจำนวนมาก
ตอนนั้นผู้เล่านายอารง บาโด อายุ ๙ – ๑๐ ปี มีโจรคอมมิวนิสต์ จากบ้านบือโลง รัฐเปรัคมาเลเซีย เข้ามาปล้นตลาดดุซงญอ เพื่อเอาเสบียง แล้วจับชาวบ้านไปเป็นลูกหาบ ขนเสบียงที่ปล้นได้กลับชายแดนที่บ้านไอกือมารา ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านน้ำวน ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาสและนายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์ เป็นกำนันตำบลจะแนะในสมัยนั้น ซึ่งมาในฐานะเป็นพ่อตา ถูกจับไปเป็นลูกหาบด้วย
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลาโดยประมาณ 0๖.๐๐ น. เช้าตรู่ คอมมิวนิสต์ ยกพวกเข้าปล้นในหมู่บ้านชาวบ้านจึงแตกตื่นวิ่งหนีเข้าป่า บางส่วนปิดประตูบ้าน โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)ตะโกนให้เปิด แต่ไม่มีใครกล้าเปิดประตู โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.) จึ่งตั้งแถวเป่าแตร่ให้สัญญาณรบ แล้วใช้ปืนที่เรียกว่า ‘’แมชชีนกัน’’ ยิงเข้าใส่ มีผู้คนถูกกระสุนปืนบาดเจ็บหลายคน เมื่อชาวบ้านยังไม่ยอมเปิดประตู โจรจีนคอมมิวนิสต์ ไปขนยางพารามากองใต้ถุนบ้านเตรียมเผารมควันกดดันให้ออกมา จนชาวบ้านต้องยอมเปิดประตู
เมื่อเสบียง เช่น เสื้อผ้า อาหาร โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.) ได้จับชายฉกรรจ์ประมาณ ๒๐ – ๓๐ คน เป็นลูกหาบขนเสบียงอาหาร การเดินทางมีความลำบากมาก เพราะต้องเดินเท้าในป่าทึก ยังไม่มีถนน เดินไปได้ ๕๐๐ เมตร ต้องหยุดพักเหนื่อยเป็นจุดๆส่วนอดีตกำนัน นายประพัฒน์ เจตาภิวัฒน์ ถูกจับเป็นลูกหาบ หนีกลับมาได้ เพราะทำทีไปขอดื่มน้ำที่บ้านของชาวบ้านจะแนะ จุดที่หนีมาได้ ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลจะแนะ ส่วนลูกหาบคนอื่นๆพอถึงปลายทางแล้ว โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.)จึงปล่อยตัวกลับมา แต่ต้องใช้เวลาเดินเท้าไปกลับเกือบครึ่งเดือน
ในการปล้นครั้งนั้น นอกจากกวาดเอาเสบียงอาหารแล้ว โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.)ยังฉีกทำลายหนังสืออัลกุรอ่านด้วย ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และหนังสือ(กีตาบ)ที่เกี่ยวกับวิชาการทางศาสนาจำนวนมาก หลังจากนั้นได้ใช้บั้นท้ายปืนทุบนายหะยีอาแว โต๊ะครูสอนศาสนาที่มัสยิดบ้านสุแฆ (หมู่ที่ ๓ ต.ดุซงญอ) เสียชีวิตไป ๑ คน เป็นเหตุให้ชาวบ้านโกรธแค้นโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.) ยิ่งนัก แต่ด้วยกลับปืนกลเร็วจึงได้แค่รวมตัวกัน และนัดพบกันที่ ‘’ฆูวอลือมู’’ ที่หมู่บ้านยารอ เพื่อสวดมนดุอา ให้พระเจ้าคุ้มครอง นานวันกลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้าน ตำบล ใกล้เคียงที่กลัวโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.)มารวมตัวกันมากขึ้นทุกวัน
ช่วงนั้น บังเอิญมีโต๊ะครูคนหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า’’โต๊ะเปรัค เป็นชาวเปรัค มาเลเซีย ซึ่งมาศึกษาวิชาการทางศาสนาที่ปอเนาะปัตตานี จบแล้วได้ภรรยาที่บ้านบองอ จากนั้นมาเปิดปอเนาะสอนวิชาคงกระพันชาตรีขึ้นที่หมู่บ้านดุซงญอ (ที่ตั้งโรงเรียนบ้านดุซงญอในปัจจุบัน)เพื่อสอนให้ชาวบ้านต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา(จคม.)
วิธีการเรียน มีการตั้งกระทะ ต้มน้ำมันจนเดือนพล่าน แล้วให้ลูกศิษย์ทั้งอาบ ทั้งทา เพื่อให้หนังเหนี่ยว ยิงไม่เข้า ฟันไม่ถลอก แทงไม่ทะลุ จึงมีชาวบ้านทั้งที่กลัว และไม่กลัวโจร จากหลายหมู่บ้านพากันมาสมัครเป็นลูกศิษย์โต๊ะเปรัค จำนวนมากรวมทั้งพวกที่สวดมนต์อยู่ ณ ถ้ำวัว ก็มาสมัครด้วย
ระยะเวลา ๕ – ๖ เดือนต่อมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ๑๐ – ๒๐ นาย จากอำเภอระแงะ เข้ามาตรวจดูความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน พบชาวบ้านรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความหวาดระแวง และเข้ามาในพื้นที่บ่อยครั้งขึ้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ ด้วยเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มาเพื่อขัดขวางพิธีกรรม กลุ่มชาวบ้านซึ่งมีจำนวนมากกว่า และถือว่าอยู่ยงคงกระพัน จึงรวมตัวกันขับไล่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองออกไปจากหมู่บ้าน ช่วงแรกๆเจ้าหน้าที่ได้แต่หนีเพราะมีกำลังน้อยกว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้บ่อยครั้ง จนเจ้าหน้าที่ทนไม่ได้
ท้ายสุด เจ้าหน้าที่ยกกำลังพล ๑๐๐ นาย จากหน่วยจังหวัดพัทลุง สุราษฏร์ธานี และสงขลา มาสมทบด้วย กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันได้ประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ คน ใช้มีพร้า มีด ดาบ และสิ่งที่หามาได้เป็นอาวุธขับไล่อีก จนเป็นมูลเหตุให้เกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ และยึดเยื้อมาเป็นเวลา ๓ วัน
วันแรกและวันที่สอง ปะทะกันนาน ๓ – ๔ ชั่งโมง เจ้าหน้าที่ ถอยร่นจากหัวสะพานดุซงญอมาจนถึงเนินดิน ยุคนั้นเนินดินแห่งนี้เป็นที่รกร้าง ไม่มีชื่อ แต่หลังเกิดเหตุปะทะกันวันนั้น แล้วถูกเรียกขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า (บูกิตสะดาดู) ปัจจุบันอยู่ที่บ้านกำปงบารู ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แต่ไม่มีฝ่ายใดเสียชีวิตมีเพียงบาดเจ็บ
วันที่สาม เป็นวันแตกหัก ฝ่ายเจ้าหน้าที่และกลุ่มชาวบ้านยกกำลังเพิ่มมากขึ้น เปิดฉากต่อสู้กันแบบตะลุมบอน ตัวเลขในบันทึกเป็นทางการ และตำราบางเล่มระบุว่าชาวบ้านตาย ๔๐๐ คน แต่ผู้เฒ่ายืนยันว่าชาวบ้านตายเพียง ๑๗ คน บาดเจ็บประมาณ ๓๐ คน ส่วนตำรวยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางการส่งเครื่องบินมาบินวนเวียนเหนือน่านฟ้า ชาวบ้านกลัวลูกระเบิด จึงพากันหลบหนีเข้าป่า การสู้รบจึงยุติลง
หลังจากการสู้รบยุติลง ชาวบ้านนำศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดไปฝังรวมกันในหลุมเดียวกันในที่ดินว่างเปล่าข้างมัสยิดดุซงญอ จะมีหญ้าปกคลุมสีแดงเข้มในบริเวณนั้น ปัจจุบันนี้กลายเป็นสุสานอย่างถาวร ประจำหมู่บ้านดุซงญอ ส่วนศพเจ้าหน้าที่มีการฌาปนากิจที่บูกิตสะดาดู และนำกระดูกมาบรรจุเป็นอนุสรณ์สถานรูปกระสุนปืน ที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ) บริเวณสี่แยกไฟแดงสนามกีฬากรมหลวงราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
หลังการสู้รบยุติลง โต๊ะเปรัค และบุคคลแกนนำประมาณ ๑๐ หนีข้ามฟากไปกบดานในประเทศมาเลเซีย ส่วนลูกศิษย์ลูกหาต่างหลบหนีเข้าป่า เพราะทางการตั้งข้อหาเป็นกบฏ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ทางการรัฐบาล ได้ออกกฎหมายอภัยให้ผู้ก่อเหตุทั้งหมด แม้ว่าผู้ร่วมก่อการได้รับการอภัยโทษ และไม่มีใครถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีเลย แต่ก็ยังพูดถึงในฐานะ ‘’กบฏดุซงญอ’’เรื่องราวเงียบหายไปนาน จนกลายเป็นอดีตที่ยังไม่ได้ชำระว่า ข้อเท็จจริง ‘’ที่แท้’’ นั้นคืออะไร เพราะผู้นำชุมชนว่าไปอีกอย่าง เจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่าไปอีกอย่าง จากตำนานที่เล่ามานี้คงจะคลี่คลายไปด้วยดี หวังว่าอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ‘’กบฏดุซงญอ’’ รู้จักการวิเคราะห์ เพื่อสร้างสรรค์สังคมต่อไป
ปัจจุบันหมู่บ้านดุซงญอยกฐานะเป็นตำบลเล็กๆประกอบด้วยหมู่บ้านต่างๆ ๘ หมู่บ้าน บริหารโดยองค์การบริหารส่วนตำบลดุซงญอ ความเจริญเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตดั้งเดิม บ้านไม้ในใจกลางหมู่บ้าน กลายเป็นตึกแถว ถนนลาดยาง มีโรงพยาบาลส่งเสิรมสุขภาพ มีชุมสายโทรศัพท์ของรัฐ และเอกชน โทรศัพท์สาธารณะ มีอินเทอร์เน็ตสาธารณะใช้ในการท่องในโลกกว้าง มีไฟฟ้าใช้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทว่าวิธีชีวิตในชุมชนยังคงเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ยังคงมีอยู่จวบจนถึงปัจจุบันนี้ (๒๕๕๔)
อ้างอิง : ธนวัฒน์ แซ่อุ่น ๒๕๔๗ บ้านดุซงญอกบฏต้นแบบพลีชีพ ๑๐๗ ศพ.๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
|